อีอีซี อนุมัติวีซ่าต่างด้าวทำงานในไทยยาว 10 ปี
• หวังเพื่อแรงจูงใจให้บริษัทยักษ์ลงทุนเพิ่ม
• จัด 4 กลุ่มคนต่างด้าวที่รัฐบาลสนับสนุน
• “จุฬา” มั่นใจ 5 ปี ดันจีดีพีพื้นที่ 6.3%
ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า อีอีซี จะประกาศ “ทางด่วนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” เพื่อมอบสิทธิ์ประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยสนับสนุน รวมทั้งหมด 4 เรื่อง ซึ่งหนี่งในนั้น มีการไฟเขียว อีอีซี วีซ่า โดยนักลงทุนหรือกลุ่มวิชาชีพที่ขาดแคลนสามารถอยู่เมืองไทยยาวนานถึง 10 ปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ทางด่วนเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่เราจะประกาศ ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า จะเป็นการเพิ่มมนต์เสห่น์ให้กับการอีอีซี เนื่องจากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนต้องการความมั่นใจว่า เมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว จะสามารถอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้อย่างยาวนาน ซึ่งหมายรวมถึงการซื้อที่อาศัย การเดินทางของครอบครัว (ภรรยาและบุตร) สถานศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่รวมกันอย่างมีความสุข
ตอนนี้ การลงทุนโดยตรงผ่านมืออีอีซี ยังไม่ได้เกิดขึ้นแม้แต่โครงการเดียว เพราะการอนุมัติโครงการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่บีโอไอ ส่วนที่เกิดขึ้นและเป็นของอีอีซี ก็คือ 4 โครงการยักษ์ ประกอบการโครงการก่อสร้างรถไฟ เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและอาคารผู้โดยสาร โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ส่วนต่อขยาย
“การลงทุนเกิดจากอีอีซี ยังไม่มี แต่ในอนาคต เราจะผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงๆ ปีละ 100,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 5 ปี หรือ 500,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งไม่แค่การอนุมัติกรอบการลงทุน แต่ 500,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนที่เกิดการลงทุนจริงๆ” นายจุฬา กล่าวและกล่าวว่า
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา อีอีซี ระบุว่า มีการลงทุนประมาณ 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องของอนุมัติให้ลงทุน แต่ไม่ใช่การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ในรอบนี้ ช่วงระยะเวลา 5 ปี เราตั้งเป้าหมาย จะผลักดันให้จีดีพีในส่วนพื้นที่ของอีอีซี มีการขยายตัวสูงถึง 6.3% แน่นอนว่า ประชาชนจะมีรายได้ดีขึ้น ความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นตามมาด้วย โดยยังคงเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม เช่น EV การบิน และโลจิสติกส์ เป็นต้น
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทางด่วนเพื่อการลงทุน โดยในวันที่ 1 ม.ค.2567 มีด้วยกันทั้งหมด 4 เรื่องที่ อีอีซี จะประกาศเป็นกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ประกอบด้วย 1. EEC Visa อายุสูงสุดไม่เกิน 10 ปี 2.ใบอนุญาตทำงาน 3.การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม ของคนต่างด้าว อัตราเดียว 17% ไม่มีหักค่าลดหย่อน 4.การออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่างๆ ในการก่อสร้างโรงสร้าง รวมถึง การจัดตั้ง One Stop Service ที่จังหวัดชลบุรี
นายจุฬา กล่าวว่า ทั้ง 4 เรื่องจะมีเพียงหน่วยงานเดียวที่อนุมัติคือ อีอีซี ส่วนรายละเอียดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องหน่วยงานอื่นๆ อีอีซี ก็จะเป็นผู้ประสานงานให้ทั้งหมดเช่น เรื่อง EEC Visa ต้นเรื่องอยู่ที่ กระทรวงต่างประเทศ เราก็จะประสานเรื่องกับกระทรวงต่างประเทศ หรือในอนุญาตการก่อสร้างโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม อีอีซี ก็จะเป็นผู้ประสานงานโดยตรง
สำหรับคนต่างด้าว ที่ได้รับ EEC Visa แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประเภท Specialist : EEC Visa “S”
2.ผู้บริหาร ประเภท Executive : EEC Visa “E”
3.ผู้ชำนาญการ ประเภท Professional : EEC Visa “P”
4.คู่สมรสและผู้ติดตาม ประเภท Other : EEC Visa “O”