จีนทุ่มหมื่นล้านบาท ผุดโรงงานมอเตอร์ EV ในอีอีซี
อีอีซี ฟุ้งยักษ์จีน ลงทุนมอเตอร์ไซด์อีวี ผลิตแบตเตอรี่ กว่า 10,000 ล้านบาทใน 5 ปี เสริมฐานการลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ “SMOGO” ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ (Mr. Huang Yongjie) Chairman of SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซด์อีวี ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นในทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทค โนโลยีดิจิทัลในประเทศจีนได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “SMOGO” โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบ มอเตอร์ไซด์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซด์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซด์อีวี ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571)
พร้อมกันนี้ ทางอีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอ ใบอนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต