บอร์ด กพอ.ให้สิทธิประโยชน์ 7 เขตส่งเสริมพิเศษเทียบเท่าบีโอไอ
กพอ.เดินหน้าขยับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการใน 7 เขตอุตสาหกรรมแต่ไม่เกินสิทธิ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนล้นหลาม มั่นใจเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างมั่นใจ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 65 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรม การเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษรวม 7 เขตได้แก่ เมืองการบินภาคตะวัน ออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง
โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์ EEC แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ สำหรับร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งล่าสุด ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่า ในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางอีวี ได้
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ EEC เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่ EEC ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของ EEC
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ซึ่งบริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ร่วมกับบริษัท อเมซอน ฟอสส์ จำกัด ประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกพอ. เพื่อดำเนินโครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ถือเป็นสวนน้ำแห่งแรกในโลก “Aquaverse: The amazing chapter of global immersive entertainment in EEC Thailand” เป็นเมืองสวนสนุกขนาด 200 ไร่ มีเครื่องเล่นอัจฉริยะระดับโลกเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยมีกำหนดเปิด “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” ระยะที่ 1 ณ เทศบาลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 8 เม.ย.65 แต่เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด และสถานการณ์รัสเซียและยูเครน อาจเลื่อนไปเปิดตัว 1-2 เดือน และในระยะต่อไปจะเปิดตัวโครงการ ระยะที่ 2 ด้วยสวนสนุกในพื้นที่ติดกันในชื่อ “วันเดอะเวิร์ส” (Wonderverse)” ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในปี 67
นอกจากนี้ ยังเตรียมงานระดับโลก International Air Show โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมการบิน จูงใจการลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี โดย กพอ.พิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับ กองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค อีกทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุนและเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันจุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่ อีอีซี
การจัดงานฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท