“คณิศ” วางแผน 6 เขตพื้นที่ลงทุนในอีอีซี
การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ได้ปีละ 3 – 4 แสนล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้การที่จะทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าวนอกจากการลงทุนในด้านโครงการสร้างพื้นฐาน ยังต้องมีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าของเขตส่งเสริมกิจการพิเศษในพื้นที่อีอีซีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้จัดทำร่างประกาศสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ซึ่งมีการกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษของอีอีซี โดยได้มีการประกาศแล้ว 6 พื้นที่ได้แก่
1.เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A) ตั้งอยู่ในบนพื้นที่ 6,500 ไร่ ในเขตสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง การลงทุนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นี้ประกอบไปด้วยธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และเขตประกอบการค้าเสรี (Duty Free) เป็นต้น
2.เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยอยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่าง สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยเป็นแนวคิดการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ร่วมไปกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในสถานีมักกะสัน และในพื้นที่สถานีศรีราชา รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ
3.เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ถือเป็นศูนย์กลาง นวัตกรรมแห่งใหม่บนพื้นที่ อีอีซีมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยองมีเป้าหมายสำคัญในการช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอีอีซี นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
4.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ตั้งอยู่ที่ อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ 830 ไร่ ถือเป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนา กำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็น Digital Innovation Hub ของอาเซียน ประกอบไปด้วยศูนย์ข้อมูลระดับโลก สนามทดสอบ วัตกรรมดิจิทัล และศูนย์ IoT ที่เพียบพร้อมไปด้วย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัย
5.เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่อาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3.69 ไร่ มีวงเงินลงทุนเบื้องต้น 1,250 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเป็นเขตรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง
และ 6.เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์พัทยา) มีพื้นที่ 566 ไร่ มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางของระบบสุขภาพแบบครบวงจร รองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ
โดยใน 6 พื้นที่เป็นเขตการส่งเสริมกิจการพิเศษที่ตรงกับความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดการลงทุน โดยสิทธิประโยชน์ที่จะเสนอให้กับนักลงทุนเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจะครอบคลุมทั้งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี รวมทั้งเน้นไปที่การเจรจากับนักลงทุนหรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่ต้องการดึงเข้ามาลงทุนเป็นรายๆ โดยเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพและเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในอีอีซีช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปี 2565 – 2570