“อีอีซี”ลงทุน 2 ล้านล้าน ใน 5 ปี
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจึงต้องอาศัยเครื่องยนต์สำคัญที่จะสร้างรายได้ทดแทนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยรายได้ที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้เป็นอย่างมากก็คือเรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนรองรับ จึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโครงการอีอีซีมีการเดินหน้าลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถสร้างเงินลงทุนรวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้ประมาณ 1 ปี แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ) มูลค่า 878,881 ล้านบาทซึ่งมีการลงทุนจริงแล้วกว่า 85% และการลงทุนผ่านงบฯบูรณาการอีอีซี มูลค่า 82,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จากความสำเร็จในของอีอีซีในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมไปเมื่อเร็วๆนี้ได้เห็นชอบเป้าหมายการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565 – 2569) ของอีอีซี โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้วในอีอีซีจะมีการลงทุนปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ให้มีการลงทุนที่ปีละ 3 แสนล้านบาท โดยเป้าหมายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อีอีซีจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ปีละ 4 – 5%
ทั้งนี้แผนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีใน 5 ปีข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาทมีหลายส่วน ส่วนแรกเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่อีอีซีวงเงินลงทุนปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ได้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบิน และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
ส่วนการดึงดูดการลงทุนอีกประมาณ 3 – 4 แสนล้านบาทจะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนตั้งเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีไว้ที่ปีละ 4 แสนล้านบาท โดยนอกจากการลงทุนปกติที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะสามารถดึงการลงทุนได้ปีละประมาณ 2.5 แสนล้านบาทแล้ว การลงทุนอีกประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี จะเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับความต้องการลงทุนของโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารสมัยใหม่ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้สามารถที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ด้วยสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้