รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินพร้อมตอกเสาเข็มไตรมาสแรกปี 65
“อีอีซี” เผยคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินส่งมอบที่ดินใกล้ครบ 100% พร้อมก่อสร้างไตรมาสแรกปี 65
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 276,561 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้มีความยาว 220 กิโลเมตร นอกจากเชื่อมโยงสนามบิน 3 แห่งเข้าด้วยกัน ยังเชื่อมโยงการคมนาคมจากรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโดยมีเป้าหมายการปรับปรุงการเดินทางของคนใน กทม.และภาคตะวันออกให้สะดวกสบายรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หน่วยงานเจ้าของสัญญาได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2568 ตามแผนการเร่งรัดการดำเนินงานของอีอีซี
นายวรวุฒิ มาลา อดีตรักษาการผู้ว่าการ รฟท.ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษ ด้านโครงการ รถไฟความเร็วสูงอีอีซีเปิดเผยว่าปัจจุบันการเตรียมความพร้อมก่อสร้างโครงการนี้มีความคืบหน้าด้านไปมาก โดยการส่งมอบที่ดินในโครงการนี้ มี รฟท.ได้มีการส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนเพื่อเตรียมการปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้างแล้วมากกว่า 98% คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน3 ตารางวา ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้ว
ทั้งนี้เอกชนคู่สัญญา ได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 ประกอบด้วย การสร้างถนนและสะพานชั่วคราวของโครงการ การสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนทางวิ่งรถไฟ การสร้างบ้านพักคนงาน โดย รฟท. จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีก1.89% ภายในเดือนมกราคม 2565 และเมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท. จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (Notice to Proceed, NTP) คาดว่าจะออก NTP ได้ประมาณเดือนมีนาคม 2565 หรือในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าจะเริ่มก่อสร้างได้อย่างแน่นอน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่าในการแก้ไขปัญหาที่ภาคเอกชนได้ทำจดหมายถึงคณะกรรมการอีอีซีเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กระทบต่อการเดินรถช่วงรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยเอกชนได้ขอผ่อนผันการจ่ายเงินสิทธิ์การบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 เป็นวงเงิน 10,671 ล้านบาทออกไปก่อนและขอเจรจาทำสัญญาใหม่กับ ร.ฟ.ท.ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปที่ผ่านมาจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวนลดลงเป็นอย่างมากซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดย ครม.เห็นชอบให้ภาคเอกชนได้มีการจ่ายเงินค่ามัดจำในสัดส่วน 10% ของวงเงินรวม คือจ่ายให้กับ ร.ฟ.ท.แล้ว 1,067 ล้านบาท โดยในส่วนที่เหลือได้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อทำงานร่วมกันในการเจรจาและทำข้อตกลงให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดตามที่คณะกรรมการอีอีซีได้ให้นโยบายว่าไม่ให้กระทบกับประชาชน รัฐบาลไม่เสียประโยชน์ และเอกชนได้รับความเป็นธรรม