3 ปี อีอีซี ก้าวหน้าต่อเนื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ถือเป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งให้ประเทศไทยพัฒนาไปข้างหน้า ขับเคลื่อนให้ประเทศพ้นจากรายได้ปานกลาง (middle income trap)
โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และการลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิม รวมทั้งเร่งส่งเสริมการลงทุนยกระดับนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ทันต่อกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีของตนเองจึงจะสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ทั้งนี้ นับจากพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา เพื่อให้อีอีซี มีความต่อเนื่องในการพัฒนาพื้นที่ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ได้เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มเดินหน้าการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาด้านสังคม ยกระดับบริการสาธารณสุข การวางแผนการเกษตรแนวใหม่ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางสร้างการพัฒนาทักษะบุคลากรที่ตอบโจทย์การสร้างงานในพื้นที่ ได้ช่วยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง
เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงของประเทศ
นับตั้งเริ่มต้นโครงการในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีการอนุมัติเงินลงทุนไปแล้วกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.5 ของ GDP ทั้งประเทศ โดยในปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (GPP) ของพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดรวมกันอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 15.0 ของ GDP ทั้งประเทศ) หรือขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี และจากการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอีอีซี พบว่า GPP ของพื้นที่อีอีซี จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 10.9 ล้านล้านบาทได้ในปี พ.ศ. 2580 โดยมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ย (พ.ศ. 2561-2580) อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี แสดงให้เห็นว่าพื้นที่อีอีซี มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง รวมถึงเศรษฐกิจพื้นที่อีอีซี โดยผลจากการประกาศมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 (Lockdown) ทั่วโลก ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่มีอุปสรรคด้านการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ปี 2563 เศรษฐกิจอีอีซี หดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอีอีซี เริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ในปี 2563 หลังจากมีมาตรการผ่อนคลาย Lockdown มากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เศรษฐกิจอีอีซี หดตัวชะลอลงอย่างมากที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอีอีซีล่าสุด พบว่า มีการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจ ณ เดือนมิถุนายน 2564 ที่ยังกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ นำโดยการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในจังหวัดชลบุรี ขยายตัวที่ร้อยละ 47.3 และ 54.9 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีตามราคาผลไม้และรายได้แรงงานภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกยังขยายตัวดี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนใน อีอีซี พบว่า ยังขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในจังหวัดชลบุรีและระยอง ขยายตัวร้อยละ 190.9 และ 201.5 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 54.7 และ 109.4 ต่อปี เป็นต้น อีกทั้ง สถานการณ์การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564) มีทิศทางฟื้นตัวในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนทั้งสิ้น 232 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 126,640 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 54.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่มูลค่าราว 82,160 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) โครงการของนักลงทุนต่างชาติ จำนวน 147 โครงการ มูลค่ารวม 81,271 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 102.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน) และ 2) โครงการของนักลงทุนภายในประเทศ 85 โครงการ มูลค่ารวม 45,369 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในอีอีซี มากขึ้น เช่นเดียวกับนักลงทุนไทยที่ยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคการท่องเที่ยวของอีอีซี ในระยะถัดไปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการฉีดวัคซีน 3 จังหวัดอีอีซี โดยมียอดการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เข็มที่ 1-3 สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 7 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 1.2 ล้านคน ครอบคลุมร้อยละ 32.2 ของประชากรทั้งหมดในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี และ 2) เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล
สำหรับในระยะถัดไป สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดว่า เศรษฐกิจ อีอีซี ปี 2564 และ 2565 จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 5.4 ต่อปี ตามลำดับ สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยภาพรวม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจาก 1) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ปริมาณการค้าโลก และวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งคาดว่า จะส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าในพื้นที่อีอีซี ที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 2) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามปริมาณการส่งออก โดยการลงทุนในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ในระยะถัดไปตามการลงทุน 5G การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2564 รวมทั้ง นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจย้ายฐานการผลิตจากจีนและไต้หวันเข้ามาในพื้นที่อีอีซี มากขึ้น 3) แม้การท่องเที่ยวจะยังชะลอตัว แต่คาดว่าจะเริ่มมีจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี หากประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับประชากรได้มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในช่วงปลายปี 2564 และรัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ได้อีกครั้ง ซึ่งเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสำคัญตามแผนดังกล่าว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอีอีซี ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศระลอกที่ 3 ที่มีแนวโน้มยื้ดเยื้อยาวนาน เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง รวมถึงการกระจายวัคซีนมีความล่าช้า ซึ่งปัจจัยกดดันภาคการบริโภคภายในประเทศที่กำลังชะลอตัว ตามมาตรการ Lockdown ของรัฐบาล
ผลักดัน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญครบ “ดึงทุนเอกชน ลดภาระงบประมาณ”
ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุน รัฐ – เอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ได้เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 3 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าครม. 1 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 633,401 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (61%) และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%) โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ ดังนี้
- รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน งานก่อสร้างเริ่มแล้ว เปิดบริการได้ปี 2568
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้าประมาณ 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว และพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 โดยขณะนี้เอกชนได้เข้าพื้นที่ เริ่มเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนาม โรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ปี และจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568
- สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก้าวหน้าครบทุกมิติ
เอกชนคู่สัญญา (UTA) ได้จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก โดยกองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 งานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ในขณะนี้งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้าประมาณ 80% ส่วนงานสาธารณูปโภค สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเจรจาสัญญาแล้วเสร็จได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR ทั้งนี้ กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น
- โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 เริ่มงานก่อสร้างรุดหน้าต่อเนื่อง
งานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง สำรวจสภาพภูมิประเทศ (บนบก) เจาะสำรวจสภาพธรณีวิทยาบนฝั่ง สำรวจภูมิสัณฐานทางกายภาพของท้องทะเลแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างสำนักงานสนาม มีความก้าวหน้าประมาณ 97% และงานเจาะสำรวจสภาธรณีวิทยานอกชายฝั่ง ดำเนินการเจาะแล้วเสร็จ 50 หลุม จากทั้งหมด 62 หลุม
- โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตกลงเอกชนเรียบร้อย เร่งเสนอ ครม.
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับ ตามที่ มติ ครม. ได้อนุมัติไว้ โดยคณะทำงานเจรจาร่างสัญญา ฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน ทั้งนี้ ได้ข้อตกลงในร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอ ครม. พิจารณา และลงนามสัญญาต่อไป
ขับเคลื่อนลงทุนเป็นรูปธรรม “เป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท อนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท”
ความก้าวหน้าด้านการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เกิดการลงทุนรวมที่ได้อนุมัติการลงทุนแล้ว มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายการลงทุนของอีอีซี ที่ 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 94% ของเป้าหมาย โดยแบ่งออกเป็น โครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประมาณการจากการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ) มูลค่า 878,881 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีซี 82,000 ล้านบาท
ต่อยอดใช้ประโยชน์ 5G ครบมิติ “สร้างชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมโรงงานอัจฉริยะ พัฒนาทักษะบุคลากร”
การผลักดันใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้พื้นที่อีอีซีเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ขับเคลื่อนการใช้ 5G โดยการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี มีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ ด้านสัญญาณ ได้ติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณ รวม 80% ในพื้นที่อีอีซี ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสัญญาณ 5G เช่น เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องนำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน โดยผลักดันให้บ้างฉาง ก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) รวมทั้งนำ 5G มาใช้ประโยชน์ในแผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล และส่งเสริม Start up ทำแอปพลิเคชั่นด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิทัล ให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยล่าสุดได้มีความร่วมมือกับหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี พัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ผ่านการจัดสัมมนา workshop อบรมบุคลากรร่วมกัน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกเพื่อขับเคลื่อน อย่างเป็นรูปธรรม โดยอีอีซี และหัวเว่ย ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ให้ได้ 30,000 คนภายในเวลา 3 ปี และจากอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก
ยกระดับ 5 แกนนำลงทุนมิติใหม่ ไทยพร้อมรับลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ปัจจุบัน แม้เป็นช่วงที่ทั่วโลกและประเทศไทย ต้องพบผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 แต่ อีอีซี ยังคงมุ่งมั่นทำงานหนักต่อเนื่อง และได้สร้างแนวทางส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยจัดกลุ่มอุตสาหกรรมแกนนำการลงทุนใหม่ แบ่งเป็น 1) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3)อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งหมดอยู่ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Circular Economy) และความมุ่งมั่นที่จะให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับธุรกิจที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง
ในการนี้ อีอีซีได้เกิดการลงทุนสำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการเปิดสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ แห่งแรกของโลก ในพื้นที่อีอีซี ที่จะมีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก โครงการลงทุนและผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าซึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก EVLOMO ซึ่งจะมีขนาดกำลังผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โครงการพัฒนา EV city บ้านฉาง ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในที่พักอาศัย สถานีบริการ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งภายในปี 2564 นำร่องสถานีแบบ Off grid 30 แห่ง On grid 500 แห่ง และในปี 2565 จะขยายได้อีก 500 แห่ง การผลักดันผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (ระยองโมเดล) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2564 รองรับขยะได้ 500 ตัน/วัน และผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งอนาคตจะขยายการผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 6 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัดอีอีซี ซึ่งจะกำจัดขยะรายวันและสะสมได้สูงถึง 6,000 ตัน/วันและผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์
พัฒนาด้านสังคม คู่ดูแลคุณภาพชีวิต “ยกระดับรายได้เกษตรกร เข้าถึงสาธารณสุข คนรุ่นใหม่มีงานมั่นคง”
นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา งานที่เป็นหัวใจสำคัญของอีอีซีอีกประการ คือการพัฒนาเชิงสังคมเพื่อยกระดับรายได้ของชุมชน ซึ่งเป็นฐากรากสำคัญรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันแผนพัฒนาภาคเกษตรให้พื้นที่อีอีซี เป็นต้นแบบใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง กำหนด 5 คลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ (ผลไม้- ประมง-พืชชีวภาพ-สมุนไพร-เกษตรมูลค่าสูง) เพื่อสร้างรายได้เกษตรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม
การยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย วิเคราะห์ DNA และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นแบบในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต
ด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรตามแนวทาง สร้างคนให้ตรงกับงาน (EEC Model – Demand Driven Education) ผ่านการขับเคลื่อนคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ซึ่งได้ประมาณการความต้องการบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย สูงถึง 475,668 คน โดยในช่วง ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการฝึกอบรมตตามแนวทาง EEC Model จำนวน 8,392 คน แบ่งเป็นการฝึกอบรมแบบ EEC Type A (เอกชนจ่าย 100%) จำนวน 4,660 คน และ EEC Type B (รัฐ-เอกชนร่วม 50-50) จำนวน 3,732 คน
สำหรับการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาบุคลากร ในระยะต่อไป EEC HDC เตรียมจัดอบรม(EEC Type B) อาทิ โครงการฝึกอบรมระยะสั้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้จริง โครงการฝึกอบรมระยะสั้นภาคยานยนต์ เพื่อรักษาการจ้างงานพร้อมกับพัฒนาทักษะใหม่ และโครงการฝึกอบรมระยะสั้น ภาคท่องเที่ยว ยกระดับบุคลากรท่องเที่ยวกับการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวใหม่ (EEC Local Wisdom Tourism) โดยเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรรวมจำนวน 25,450 คน แบ่งเป็นการฝึกอบรมบุคลากรตามแผน 13,130 คน และการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 12,320 คน และในปี 2565 วางเป้าหมายจะพัฒนาทักษะบุคลากรได้รวม 36,700 คน โดยการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร ได้ตั้งเป้าหมายระยะเวลา 2561 – 2566 รวมสูงถึง 114,542 คน
3 ปีที่ผ่านมาของอีอีซี ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสนับสนุนด้วยดีของภาครัฐ และความร่วมมือจากเอกชนทุกภาคส่วน ทำให้วันนี้ อีอีซี พร้อมก้าวสู่ ต้นแบบการพัฒนาที่ต่อยอดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเป็นคำตอบการสร้างอนาคตที่ดี ให้แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน
[1] บทความนี้เป็นบทความร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (สศม.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นของ สศม. ไม่ได้สะท้อนความเห็น สศค.