“EEC” คุมอยู่ โควิด-19 บ้านฉางโมเดล
“เราเดินงานแบบเดิมไม่ได้ เอาประเทศไม่อยู่ เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่มา ต้องเดินงานแบบใหม่ เทคโนโลยีดิจิตอลแก้ปัญหาโควิดได้”
“ดร.ชิต เหล่าวัฒนา” ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงาน AEC10NEWS ถึงแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในพื้นที่อีอีซี พร้อมกับเล่าถึงที่มาของ “โครงการจิตอาสาอีอีซี ต้านโควิด” ว่า
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ได้ประชุม ผู้บริหารของอีอีซี พร้อมแจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้หาแนวทางรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่วัคซีนยังมาไม่ถึง จึงมีการคํานวณกันว่า หากเป็นเช่นนั้น ผู้ป่วยโควิอาจจะเพิ่มขึ้นระดับ 10,000 รายแน่
ซึ่งปรากฏว่า ในเวลาต่อมา จำนวนผู้ป่วยเริ่มขึ้นมาเป็น 10,000 รายภายใน 1-2 เดือน จะรับมืออย่างไร โรงพยาบาลที่มีอยู่รับผู้ป่วยไม่พอแน่
“ดร.ชิต” เล่าให้ฟังพร้อมกับบอกต่อว่า “ผมกับน้องๆทีมงานก็มาเช็คข้อมูลกัน ก็มาเจอตัวเลขที่น่าตกใจมาก เช็คจำนวนวัดทั่วประเทศมีวัด 2- 30,000 วัดในกทม.มีประมาณ 2,000 กว่าวัด แต่มีเพียง7 วัดเท่านั้นที่รับเผาผู้เสียชีวิต แต่หลังจากสมเด็จพระสังฆราช มีหนังสือออกมาขอให้วัดรับจัดการฌาปนกิจ ตอนนี้จึงมีวัดรับเผาเพิ่มมากขึ้นกว่า 200 วัดแล้ว”
เหตุนี้เองจึงเป็นโจทย์แรกที่ทำให้ “ดร.ชิต” และทีมงาน คิดระบบ Digital Map Platform ขึ้นมา เพื่อประสานข้อมูลผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต กับ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู รวมถึงวัดที่รับจัดการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19
“ด้วยความร่วมมือจากน้องๆวิศวกรอวกาศที่ จิสด้า (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ที่ EECd ศรีราชา มาช่วยทำ แพลตฟอร์ม แผนที่ขึ้นมา ในลักษณะของการปักหมุด ว่าตรงไหนที่พบเห็นผู้ป่วย เสียชีวิต มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู ก็ปักหมุดไว้ ทั้งวัดที่รับเผา และยังปักโรงพยาบาล ปักตำแหน่งที่ทำการตรวจ และ ปัก Home my Isolation ด้วย เพราะเชื่อว่าจากข้อมูลที่พบ จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที”
ถ้าจำกันได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คือ วันแรกที่ ระบบ จิตอาสาดอทแคร์ (JITASA.CARE) ถูกนำออกมาใช้ ประชาชนในกรุงเทพต่างตกใจมาก เพราะมีจุดแดง(ผู้ป่วย) เต็มไปหมด ซึ่งล่าสุด หน่วยงาน ราชการ เอกชน ได้นำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว 30-40 แห่ง
หลังจากได้ระบบ จิตอาสาดอทแคร์ (JITASA.CARE) รู้ตำแหน่งผู้ป่วยโควิด แล้ว “ดร.ชิต” จึงได้นำไปหารือกับ “ดร.คณิศ” หาจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ อีอีซี เป้าหมายคือ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
“ด้วยเหตุผล 2-3 ประการ คือ เป็นพื้นที่ ที่ตั้งของอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีอุตสาหกรรมต้นน้ำจำนวนมาก หากเกิดอะไรขึ้นอุตสาหกรรมต้นน้ำไป อุตสาหกรรมกลางน้ำ ปลายน้ำ ก็จะไปกันหมด อีกประการหนึ่ง ผมในฐานะที่ทำงานในพื้นที่อีอีซีทำโครงกาต่างๆที่ บ้านฉางเยอะ ก็พอจะรู้จักชุมชน ประชาชน ในท้องถิ่น และที่สำคัญ บ้านฉาง เป็นเมืองต้นแบบ 5G จึงเชื่อว่า น่าจะดำเนินงานได้ง่ายขึ้น”
“ดร.ชิต” บอกว่า เดิมที ตั้งใจจะใช้กลยุทธ์ วิธีการตรวจที่เดียวเป็นจำนวนมากเพื่อจะได้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะได้รับคำแนะนำว่า วิธีนี้อาจจะกลายเป็น คลัสเตอร์ ใหม่ขึ้นมาได้
ดังนั้นจึงมีการปรับแผนด้วยการส่ง อสม.ในพื้นที่ เข้าไปตรวจประชาชนโดยดารใช้ ATK (แอนติเจน เทสต์ คิท)
“กรณีบ้านฉาง พบว่า อสม.ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรที่มาทำงานร่วมกับ สาธารณสุข และทาง สปสช. เข้มแข็งมาก เราจึงระดม อสม.จำนวน 6-700 ท่าน มาช่วยดูแลประชานในพื้นที่ ประสานงาน วิ่งไปตามบ้าน เพื่อตรวจสอบตรวจเช็ค ATK”
“แรกๆไม่มีใครอยากตรวจ เพราะตรวจไปแล้ว ก็ไม่ได้รับการรักษา ยาก็ไม่ได้ และยังถูกเพื่อนบ้านรังเกียจ อีกด้วย พอมีจิตอาสา ที่เป็น อสม.เข้าไปพูดคุย ดูแล มีโรงพยาบาลสนาม ที่สามารถรองรับผู้ป่วย พวกเขาดีใจมาก”
ปัจจุบัน อำเภอบ้านฉาง มีโรงพยาบาลสนามอยู่ 3 แห่งที่ โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลบ้านฉาง และโรงพยาบาลสนามของอีอีซีที่รองรับผู้ป่วยสีเหลืองได้ประมาณ 3-400 คน ซึ่งผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการเยียวยา จาก สปสช.คนละ1,000บาท เป็นเวลา 14 วัน
ขณะเดียวกัน “อีอีซี” ยังได้ร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยบูรพา” พัฒนาแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า วีเซฟแอทโฮม (weSAFE@Home) การดูแล ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เหลือง ที่พักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือสถานที่กักตัวในชุมชน (Community Isolation) เป็นสื่อกลางดูแลผู้ป่วยจากระยะไกล
“เป็นความชาญฉลาดของผู้บริหาร มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้คิดแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา เพื่อให้ นักเรียนแพทย์ พยาบาล ปีสุดท้าย ฝึกงานดูแลคนไข้ด้วยการใช้ แอพพลิเคชัน นี้ ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง สีเขียว ในสัดส่วนนักเรียนแพทย์ พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่าวย 10 คน พูดคุยซักถามอาการผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้การรักษาสะดวก รวดเร็ว กว่าระบบคอลเซ็นเตอร์ มาก”
หลายคนบอกว่า แค่มีจิตอาสาโทรไปหา พวกเขาก็ดีใจแล้ว… ดีใจว่า เขาจะไม่ถูกทอดทิ้งอีกแล้ว…
หลังจากที่มี จิตอาสาดอดแคร์ กับ weSAFE@Home ทำให้ วันนี้ ชาวบ้านฉางทุกคน เกิดความมั่นใจในระบบสาธารณสุขของอีอีซี ที่มีหลักปฏิบัติอย่างเป็น ถูกต้อง ระบบ เมื่อตรวจพบเชื้อหากรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จะมี อสม.ส่งอาหารและยา และมี นักเรียนแพทย์ พยาบาล ดูแล ตลอดการักษา
ส่วน ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่นำมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น “ดร.ชิต” บอกว่า ได้รับความช่วยเหลือจากนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่นำมามอบให้ประมาณ 30,000 เม็ด และยังได้รับความช่วยเหลือจาก ภาคเอกชนช่วยบริจาควัคซีน ซิโนฟาร์ม มาอีกประมาณ 23,000 โดส และยังมี ถุงห่วงใย กว่า 30,000 มอบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด -19 อีกด้วย
“การรักษาเป็นไปตามระบบที่วางไว้ เมื่อตรวจ ATK เจอสีเหลืองก็ส่งไปโรงพยาบาลสนาม สีแดงโรงพยาบาลหลัก สีเขียวกักตัวที่บ้าน ใครที่ผลตรวจเป็นลบหาก อยู่ในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับการฉีดวัคซีนให้เลยทั้งหมดนี้ ทำให้มั่นใจว่าเราคุมอยู่”
“ผมเชื่อว่า ด้วยระบบของ weSAFE@Home จิตอาสาดอดแคร์ และกลุ่ม อสม.ที่เข้ามาช่วย ทำให้มั่นใจว่า 99 % ของกลุ่มสีเขียวจะกลับสู่ปกติ อีก 15วัน 30 วัน ได้กลับไปทำงาน ถ้าฉีดวัคซีนยังไม่ครบก็มาตรวจใหม่ ทำอย่างนี้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมไปได้ เพราะ แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม 65 % คือ ผู้คนในชุมชนบ้านฉางเมื่อชุมชนบ้านฉาง ปลอดภัย โรงงานก็เดินต่อไปได้”
จากโมเดล รักษาโควิด-19 บ้านฉาง ที่นับว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ในขั้นตอนต่อไป “อีอีซี” ก็เตรียมที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ปลวกแดง ซึ่ง“ดร.ชิต” บอกว่า ภายใน 3 เดือน ระบบดังกล่าวจะครอบคลุมไปในพื้นที่อื่นๆของ อีอีซี
ด้วยกลไกที่ทำอยู่นี้ “ดร.ชิต” มั่นใจว่า แม้โควิดจะยังไม่ไปจากเรา แต่การตรวจเช็คอย่างต่อเนื่อง และฉีดวัคซีนให้กับประชาชน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขึ้นมา
ฉะนั้นเมื่อ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สามารถทำธุรกิจ ธุรกรรม ท่ามกลางโควิดได้ ด้วยการบริหารจัดการแบบที่อีอีซีโดยการนำเทคโนยีดิจิตอลมาช่วย ประเทศก็เดินต่อไปได้เช่นกัน…