สปก.จับมือ สกพอ. พัฒนาพืชสมุนไพร ในพื้นที่ อีอีซี
สปก.จับมือ สกพอ.พัฒนาพืชสมุนไพร ในพื้นที่ อีอีซี พร้อมขับเคลื่อนเพิ่มคุณภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตสินค้าตรงความต้องการตลาด สร้างรายได้เกษตรกร อย่างยั่งยืน
เมื่อ 24 ส.ค. 2564 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยมี นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้ลงนาม
แนวทางส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ตะวันออก ในการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ระหว่าง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และอีอีซี เพื่อร่วมกันยกระดับระดับรายได้เกษตรกร พัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในเขตพื้นที่ส.ป.ก.โดยในเขตพื้นที่อีอีซี จะใช้พื้นที่ประมาณ 1 หมื่นไร่ และจะส่งเสริมการทำแปลงใหญ่สมุนไพร เป็นการพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง อาทิ กัญชง ขมิ้นชัน กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
นายคณิศ กล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง สปก. และ สกพอ. ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาพืชสมุนไพร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรอย่างครบวงจร ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายที่จะยกระดับพืชสมุนไพรของไทย มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการทำตลาดโดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยตลอดจนการทำตลาดสมัยใหม่ ให้สมุนไพรไทยขายได้ตรงความต้องการของตลาด มีราคาสูง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร โดยกรอบความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรฯ ที่สำคัญๆ ได้แก่
1) สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2) สนับสนุนข้อมูลให้เกษตรกร ข้อมูลที่ดินรวมทั้งกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี
3) ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และพื้นที่ดำเนินการที่มีความพร้อม
เพื่อดำเนินการพัฒนาพืชสมุนไพร นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต และขายได้ตรงตลาด
4) สร้างเครือข่ายงานวิจัยและการต่อยอดสมุนไพรไทย ให้ได้ตรงความต้องการตลาด
ทั้งนี้ จะร่วมกันศึกษาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพ
และครบวงจร ให้มีผลโดยเร็วและเป็นรูปธรรม มีระยะเวลา 2 ปี ตามอายุของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือนี้
ที่ผ่านมา อีอีซี ได้ดำเนินการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี โดยมีแผนพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทำร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในการนำเทคโนโลยี
มาพัฒนาการผลิตและการตลาดให้ตรงกับความต้องการซื้อ โดยใช้ EECi เป็นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตร และยังได้จัดทำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง ชุมชน
การนิคมแห่งประเทศไทย และ ปตท. ในการทำระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage) เพื่อเก็บและพัฒนาสินค้าผลไม้ไว้ขายนอกฤดูกาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้