นักลงทุน เชื่อมั่น “อีอีซี” จดทะเบียนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น

นักลงทุน เชื่อมั่น อีอีซี โครงสร้างพื้นฐานชัดเจน ส่งผลให้ ครึ่งปีแรกปี 64 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น 6.07% จังหวัด ชลบุรี สูงสุด
รายงานจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในครึ่งปีแรกปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.2564) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีทั้งสิ้น 3,445 ราย เพิ่มขึ้น 6.07% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีทุนจดทะเบียนกว่า 8,146.46 ล้านบาท ธุรกิจใหม่ ร้อยละ 68.41 ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรี 2,357 ราย รองลงมาเป็น จ.ระยอง และ จ .ฉะเชิงเทรา
สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. ก่อสร้างอาคารทั่วไป 3. ขนส่ง ขนถ่ายสินค้า และขนส่งผู้โดยสาร
และในปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด มีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 30 มิ.ย. 2564 รวม 75,682 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.99 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1. ชลบุรี 54,829 ราย คิดเป็น 72.45% 2. ระยอง 14,638 รายคิดเป็น 19.34% 3. ฉะเชิงเทรา 6,215 ราย คิดเป็น 8.21%

ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทยมีมูลค่า 817,810 ล้านบาท คิดเป็น 40.95% ของทุนทั้งหมด โดยมีประเทศที่เข้ามาลงทุนมากสุดคือ 1. ญี่ปุ่น 384,682 ล้านบาทคิดเป็น 47.04% (เข้ามาลงทุนมากสุด) 2. จีน 97,084 ล้านบาท คิดเป็น 11.87% 3. สิงคโปร์ 44,541ล้านบาท คิดเป็น 5.45% โดยส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ระยองสูงสุด มูลค่าทุนจดทะเบียน 430,733 ล้านบาท คิดเป็น 52.66%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การจัดตั้งธุรกิจใหม่ในอีอีซีเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก โดยในเดือนม.ค. -7 มิ.ย.2564 มีมูลค่า 4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.59 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ลดลง คาดว่าครึ่งปีหลัง การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่อีอีซีจะอยู่ที่ประมาณ 2,900 – 3,000 ราย และตลอดทั้งปี อยู่ที่ 6,300 – 6,500 ราย
รวมถึงความชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี จะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น เช่น การส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดของการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงในเดือนก.ย. และแผนการขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีความก้าวหน้าอย่างมากและจะสร้างงานได้มากกว่า 3,000 ตำแหน่งในอนาคต