นายกฯ ตามงานอีอีซี รถไฟ 3 สนามบิน ส่งมอบพื้นที่ครบ ก.ย.นี้
รัฐบาลเดินหน้า พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และพัฒนาแหล่งน้ำต่อเนื่อง รองรับ EEC
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามและรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการต่างๆในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) การจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่อีอีซี เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและวางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำจนถึงปีพ.ศ. 2580 มีทั้งสิ้น 38 โครงการมูลค่า 52,874.47 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ
นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่พื้นที่ 3,348 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 4 แหล่งที่มีศักยภาพสูง และสามารถนำมาใช้ได้ถึง 4,039 ล้านลูกบาศก์เมตร
2) ความก้าวหน้าการลงทุนใน EEC มีมูลค่าสูงถึง 1,594,282 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย. 2564) โดยมีการลงทุนที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีความคืบหน้า 86% แล้ว พร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 รวมทั้งการยกระดับแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก และกองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
3) ท่าเรือแหลมฉบัง ฯ ได้ข้อตกลงในร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอ ครม. พิจารณา และลงนามสัญญาต่อไป
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธา ทั้งเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะหาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เกิดงบประมาณเพิ่มเติม และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในเบื้องต้นให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. ตลอดเส้นทาง
นายกรัฐมนตรียังได้ให้แนวคิด การจัดทำโครงการ EEC ให้วางแผนไปถึงอนาคต ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงกันการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ ภูมิภาค และประเทศอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้สอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยด้วย