EEC เพิ่มเขตส่งเสริมศก.พิเศษอีก 7 แห่ง รองรับอุตฯเป้าหมาย
EEC เพิ่มเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 7 แห่ง รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และขยายพื้น EECmd เพิ่มเติม
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)หรือ EEC เผยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ในปีนี้ อีอีซี น้ำมีใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งที่ประชุม ทราบแผนแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว โดย กรมชลประทาน เร่งเสนอโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำกลับคลองสะพาน-ประแสร์ เส้นที่ 2 และเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 เพื่อสร้างความมั่นคงการจัดการน้ำในระยะยาว
การจัดหาแหล่งน้ำสำรองของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งเพิ่มน้ำต้นทุน เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด เป็นต้น และแนวทางจัดหาแหล่งน้ำรองรับในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นจุดการพัฒนาที่สำคัญ
และกระทรวงทรัพย์ฯ ยังได้ช่วยทำแผนที่น้ำใต้ดินซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารน้ำผิวดิน ร่วมกับน้ำใต้ดิน
และรับทราบความคืบหน้าการลงทุนที่อีอีซี ได้อนุมัติไปแล้ว 1.59 ล้านล้านบาท จากแผน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน (โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท เกิดการลงทุนในปี 2564 มูลค่า 26,588 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาที่เหลือของโครงการ สูงถึง 606,205 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564
ด้านสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA ได้จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53% งานสาธารณูปโภค สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว
ขณะที่งานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเจรจาสัญญาแล้วเสร็จได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น
ส่วน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่คณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯได้ดำเนินการเสร็จแล้วและได้ส่งให้อัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังพิจารณา คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญาได้ในสิ้นเดือนส.ค.นี้
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังพิจารณา แก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสา
และฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการซ้อนทับทั้งสองโครงการ ฯ ดังกล่าว สกพอ. ก.คมนาคม และ รฟท. จะเจรจากับเอกชนคู่สัญญา จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟฯ ไทย-จีน สามารถใช้เส้นทาง ดอนเมืองบางซื่อได้ภายในเดือน ก.ค. 2569
รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของ รถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้
ทั้งนี้ จะได้หาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เป็นภาระทางการเงินกับภาครัฐ และแผนก่อสร้าง ทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด
และยังเพิ่มเติมเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 4 แห่ง และ จังหวัดระยอง 3 แห่ง พื้นที่โครงการรวมประมาณ 8,000 ไร่ มีพื้นที่รองรับประกอบกิจการรวมประมาณ 6,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายเงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (2564 – 2573)
ได้แก่ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ นิคมโรจนะแหลมฉบัง นิคมโรจนะหนองใหญ่ และ นิคมเอเชียคลีน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
และในจังหวัดระยอง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมเอ็กโก และนิคมดับบลิวเอชเออินดัสเตรียลเอสเตทระยอง รองรับยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ โดยมีจำนวนพื้นที่โครงการ 6,884.42 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับประกอบกิจการ 5,098.56 ไร่ เงินลงทุนสูงถึง 280,772.23 ล้านบาท
และจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่โครงการ 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบกิจการ 360 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท
รวมทั้ง ได้เห็นชอบ เปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd โดยขยายพื้นที่เพิ่ม 18.68 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่เป็นพื้นที่รวมประมาณ 585 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท