อีอีซี จับมือ หัวเว่ย พัฒนาบุคลากร ด้วย 5 G
อีอีซี จับมือ หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี เดินหน้าพัฒนาทักษะบุคลากร ด้วยนวัตกรรม 5G สู่ อุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทาง อีอีซี โมเดล สร้างคนตรงความต้องการ มีงานทำ รายได้สูง
วันนี้ (3 ส.ค.2564) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ และ หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) และม.บูรพา จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (work shop) รูปแบบออนไลน์ หัวข้อ“Technology Seeker vs Competence Development Workshop” โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี และ นายอาเบล เติ้ง (Mr. Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดการสัมมนาฯ พร้อมคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาให้ความรู้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก อาทิ ผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีความสนใจต่อการนำนวัตกรรมดิจิทัล 5G เข้ามาผนวกกับการพัฒนาบุคลากร
การจัดสัมมนาฯครั้งนี้ จัดขึ้นตามแนวทาง อีอีซี โมเดล สร้างคนตรงความการ มีงานทำ รายได้สูง พร้อมขับเคลื่อนหลักสูตรนวัตกรรมที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี อีกทั้งมุ่งให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยี 5G ระดับโลกของ หัวเว่ย ที่ได้พัฒนาระบบดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูล
สำหรับสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม ให้กับ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ICT ในพื้นที่อีอีซี โดยในการสัมมนาฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญจาก หัวเว่ย ร่วมถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจ เช่น เทคโนโลยี 5G, ระบบการจัดเก็บข้อมูล Cloud, Big Data, และ IoT รวมทั้งการยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะ และความต้องการในมิติต่างๆ จากผู้เข้าสัมมนาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ Huawei ASEAN Academy จะได้นำไปปรับการจัดทำหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อม และพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี สู่อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง อีอีซี หัวเว่ย และม.บูรพา ครั้งนี้ ว่า ในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน โครงการ Huawei ASEAN Academy (Thailand) EEC Branch ที่จะสร้างโอกาสการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์การสร้างงานให้ตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรม แต่จะขยายผลไปสู่การสร้างความสำเร็จ เพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม 4.0 เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต
โดยอีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้สูงถึง 8,000 โรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน
ด้านนายอาเบล เติ้ง กล่าวว่า เป้าหมายของ Huawei ASEAN Academy จะพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล 5G ให้ได้ 30,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งทาง หัวเว่ย พร้อมจะให้การสนับสนุนร่วมกับ อีอีซี และมหาวิทยาลัยบูรพา ในการสร้างความพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งด้านองค์ความรู้ หลักสูตรด้านดิจิทัล และทรัพยากรต่างๆ
ซึ่งหัวเว่ย พร้อมจะร่วมผลักดัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของภูมิภาค (Digital Hub of the ASEAN) รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล ที่หัวเว่ย จะให้การสนับสนุนและยินดีให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง