บก.ชวนคุย วันที่ 18 พ.ย.2567
เศรษฐีที่ไม่มีอนาคต
เรื่องที่ 4,388 เดือนพ.ย. ก่อนเข้าก้าวเข้าสู่เดือน12 สิ้นปี 2567 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยังมีประเด็นเศรษฐกิจอีกหลายเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด สศช. หรือสภาพัฒน์ฯ ก็ออกแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 3 ดีกว่าที่นักวิเคาะห์คาด โดยเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ 3% เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.2% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% และตลอดทั้งปี จะขยายตัวได้ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ขยายตัวเพียง 1.9%
ขณะที่ปีหน้า ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และสงครามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงความขัดแย้งต่างๆ ทำให้กลายเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง และจับตาเป็นพิเศษ โดย สภาพัฒน์ ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3 – 3.3% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8%
แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า ฐานตัวเลขขั้นต่ำที่ 2.3% แสดงให้เห็นว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ไม่กระจ่างชัดในเวลานี้ และต้องจับตากันต่อไปว่า ในอนาคตมีอะไรที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกหรือไม่
ดังนั้น การเร่งระดมการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ขีดความสามารถของรัฐบาลชุดนี้ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการได้หรือไม่
ผลงานของนายกฯ ที่ไปร่วมประชุมเอเปก ครั้งที่ 31 ก็ดี หรือแม้กระทั่ง รมว.คลัง “พิชัย ชุณหวชิร” เอง ต่างก็พยายามแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากขึ้น
เนื่องจากสถานะของประเทศไทย ที่ขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นานกว่า 20 ปีแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยจีดีพีไทยอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น
ขณะที่ ปัญหาเรื่อง “หนี้ครัวเรือนสูง” ได้เพิ่มสูงขึ้นตามเป็นเงา ซึ่งมีปัจจัยลบมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จีดีพีไม่ขยายตัวแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมาจาก ภาคธุรกิจขนาดมีภาวะการลงทุนต่ำ หรืออาจะเรียกว่า “ย่ำแย่” ก็ได้ เครื่องจักรตัวเดิมยังทำงานอยู่เหมือนกับ 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าเดิมก็ยังผลิตอย่างเดิม
ในเมื่อบริษัทยังพอทำกำไรได้ ก็นำเงินไปจ่ายเงินปันผล ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม ปัญหาตอนนี้คือ มีสภาพคล่องมีจำนวน แต่ไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะที่ สถาบันการเงินเอง ก็กลัวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น จะกลายเป็นเอ็นพีแอลในอนาคต ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ของไทยจึงเป็นเชิงของโครงสร้าง ตราบใด เศรษฐกิจไทยยังคงกินบุญเก่า นักลงทุนก็ชอบ เพราะอ่านเกมออกง่าย ไม่ได้ยากเย็นแต่อย่างใด
เพียงแค่นี้ เราก็พอมองทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตอีก 5 ปี ไม่ต้องมองไกล 10-20 ปี เพราะเวลานี้ เศรษฐกิจไทยเป็นเหมือนเศรษฐีที่ไม่มีอนาคต ไม่รู้ว่า ต้องทำอย่างไร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่รู้อีกว่า ต้องลงทุนอย่างไรถึงจะแข่งขันกับตลาดโลกได้
นพวัชร์ ตันติฉันทะวงศ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บก.ชวนคุย วันที่ 4 พ.ย.2567