ข่าวเด่น เย็นนี้ 20 ก.พ.2567
1 ประเทศ 2 นายกฯ เป็นเครื่องหมายคำถามหลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษ
เรื่องที่ 3,903 แน่นอนว่า เศรษฐา ทวีสิน คือนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจและบารมีทางการเมือง มากกว่านายกฯเศรษฐา หลายเท่าตัว
คำถามคือ เมื่อ ทักษิณ เป็นเสมือนนายกฯซ้อนนายกฯ แล้วพลังของเศรษฐา จะน้อยลงหรือไม่
เราจะเห็นว่าเวลานี้นายกฯเศรษฐา เดินสายมิได้หยุดหย่อน เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเองและรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
แน่นอนเศรษฐา มีอำนาจเต็มในการบริหารราชแผ่นดิน แต่ต้องอย่าลืมว่า คนที่มีอำนาจมากที่สุดในพรรคเพื่อไทย ก็คือ “ทักษิณ ชินวัตร”
โดยทักษิณ มีอำนาจมากขึ้นหลังพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งยังมีอำนาจมากขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแทนของ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่” ที่เป็นแกนหลักสู้กับพรรคก้าวไกล อยู่ในปัจจุบันและอนาคต
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สภาวะ 1 ประเทศ 2 นายกฯ จะยังอยู่คู่เมืองไทยเช่นนี้ต่อไป หรืออย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
เพราะถึงอย่างไร จะไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกฯกลางศึก เพราะนั่นจะทำให้ภาพลักษณ์ของทักษิณ และ “ครอบครัวชินวัตร” ถูกวิจารณ์หนักกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อนั้น ทั้งองคาพยพ ก็จะพังอย่างไม่เป็นท่า
เรื่องที่ 3,904 สิ้นสุดมหากาพย์การรอคอยกันเสียทีสำหรับคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ เมื่อคณะรัฐมนตรี หรือครม.มีมติอนุมัติตามรายชื่อทั้ง 10 รายที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ
โดยที่บอร์ดชุดนี้จะมีพี่เสริฐ “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธานบอร์ด กฟผ. ตามที่พี่เสริฐปรารถนา ซึ่งประเด็นที่สำคัญหลังจากนี้ก็คือการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ แทนที่นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ. คนเดิมที่ได้ครบวาระไปแล้วใตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2566
ส่วนตัวเต็งที่จะขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กฟผ. ก็ยังคงเป็นพี่กุ่ย “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าฯ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
ซึ่งบอร์ดชุดที่ผ่านมามีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 หลังจากนี้ก็จะต้องมาจับตาดูกันต่อว่ากระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. จะเป็นอย่างไร ช้าหรือเร็วแค่ไหน
แต่บอกเลยว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ กฟผ. ว่างเว้นผู้ว่าฯ กฟผ. นานที่สุดในประวัติศาสตร์แล้วล่ะขอรับ
เรื่องที่ 3,905 “บิ๊กหม่อง-พชร อนันตศิลป์” ผอ.สบน. กระเชิญนักข่าวมากินกาแฟ ถามสารทุกข์สุขดิบ ตามประสาคนกันเอง แต่เอาเข้าจริง ด้วยความคิดถึงนักข่าว ช่างภาพเว็บไซต์ กรูกันเข้ามาเกือบ 50 คน แน่นถนัดห้องประชุม สบน. จนบิ๊กหม่อง ยกเลิกกินกาแฟ กลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะทุกคนต่างหวังว่าจะได้สัมภาษณ์ “พรช” ในฐานะ ผอ.สบน. แต่บิ๊กหม่อง ก็ไม่ทำให้เสียใจ พูดคุยกับนักข่าวเล็ก ๆ น้อย ๆ 1. การออกธนบัตรรัฐบาลในต่างประเทศ (Gobal Bond) 2. ปฏิเสธต่างชาติขายพันธบัตรรัฐบาลไทย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท 3. ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 4 หมื่นล้านบาทในเดือนหน้า 4. หนี้สาธารณะต่อจีดีพี 62% กู้ยังไงก็ไม่ถึง 70% ของจีดีพี และ 5. ดอกเบี้ยทรงตัว แนวโน้มลดลง จะทำให้ สบน.ประหยัดงบประมาณไปได้มากโข 5 ประเด็น ร้อนแรง และต้องจับตา อย่างใกล้ชิด นี่ !! ยังไม่ได้แถลงข่าว แค่ล้อมวงพูดคุย ก็เถิดเทิงขนาดนี้
เรื่องที่ 3,906 ตั้งแต่ต้นปีมานี้ มีข่าวดีให้เกษตรกรไทยได้ เฮ หลายต่อหลายครั้ง ล่าสุด ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 66/67 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกาศราคาขั้นต้นตันละ 1,420 บาท หากเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตที่แล้วแค่ตันละ 1,080 บาท สูงกว่าปีที่แล้วตันละ 340 บาท หรือคิดเป็น 31.40%…เมื่อราคาดีอย่างนี้ อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาก็จะได้โบนัสพิเศษจากรัฐบาล
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาท/ต้นอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท/1 หน่วย ซี.ซี.เอส. พร้อมทั้งกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาท/ต้นอ้อย ก็ขอดีใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุก ๆ คนนะขอรับเจ้านาย
สรุปข่าวต่างประเทศ
เรื่องที่ 3,907 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้สั่งการให้กระทรวงความมั่นคงสาธาณะพิจารณาขยายความครอบคลุมของนโยบายยกเว้นวีซ่าแก่พลเมืองของประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงสภาพการณ์ใหม่และความสัมพันธ์ของเวียดนามกับประเทศเหล่านั้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามได้รับคำสั่งให้ประสานงานกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เพื่อนำเสนอรายชื่อประเทศเพิ่มเติมเข้าสู่บัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเพียงฝ่ายเดียวของเวียดนาม เวียดนามดำเนินการออกวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์แก่ชาวต่างชาติทั้งหมด และขยายระยะเวลาการพำนักอาศัยชั่วคราวจาก 30 วันเป็น 90 วัน โดยไม่จำกัดการเดินทางเข้า-ออก ตั้งแต่กลางเดือนส.ค. 2566 เป็นต้นมา
เรื่องที่ 3,908 อาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากจีน กำลังทุ่มความสนใจไปยังธุรกิจในต่างประเทศ ขณะที่ การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศจีนยังคงซบเซา
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศของอาลีบาบา กรุ๊ปนั้นมีความแข็งแกร่งโดยจะเห็นได้จากการรายงานผลประกอบการครั้งล่าสุดของทางบริษัท โดยบริษัทอาลีบาบา อินเตอร์เนชั่นแนล ดิจิทัล คอมเมิร์ซ กรุ๊ป (AIDC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป มีรายได้ 2.85 หมื่นล้านหยวน (4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อนหน้า โดย AIDC นั้นให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เช่น อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress), ลาซาด้า (Lazada), ดาราซ (Daraz) และเทรนด์ยอล (Trendyol)
เรื่องที่ 3,909 ราคาแร่เหล็กร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แม้จีนประกาศมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าอุปสงค์เหล็กจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังตรุษจีน สัญญาแร่เหล็กดิ่งลงกว่า 3% ในตลาดสิงคโปร์ แตะระดับต่ำสุดระหว่างวันนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2566 แม้ว่าธนาคารหลายแห่งในประเทศจีนได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองมากเป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แร่เหล็กเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ เนื่องจากอุปสงค์จากจีนมีแนวโน้มซบเซา โดยวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ตาม
เรื่องที่ 3,910 งานสิงคโปร์แอร์โชว์ (Singapore Airshow) ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี และเป็นงานจัดแสดงอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เปิดฉากแล้ววันนี้ (20 ก.พ.) ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องหาทางรับมือกับความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้น แต่เครื่องบินที่ผลิตออกมามีจำนวนจำกัด
นายราวินเดอร์ ซิงห์ ผู้จัดงานสิงคโปร์แอร์โชว์ กล่าวในพิธีเปิดงานว่า มีบริษัทมากกว่า 1,000 แห่งจากกว่า 50 ประเทศตบเท้าเข้าร่วมงาน นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมจากตะวันตก เช่น แอร์บัส (Airbus), โบอิ้ง (Boeing) และล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และบริษัทคู่แข่งจากจีน เช่น โคแมค (COMAC) และเอวิก (AVIC) นอกจากนี้ยังมีการแสดงภาคการบินของเครื่องบินกองทัพจากสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐ รวมถึงการปรากฏตัวครั้งแรกของเครื่องบินเจ็ตเชิงพาณิชย์รุ่น C919 ของโคแมค นอกประเทศบ้านเกิดอย่างจีนอีกด้วย
เรื่องที่ 3,911 รัฐบาลสหรัฐประกาศเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) เกี่ยวกับแผนมอบเงินประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับโกลบอลฟาวน์ดรีส์ (GlobalFoundries) หรือจีเอฟ (GF) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปในนิวยอร์ก เพื่อยกระดับภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ
สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่า บริษัทต่างประเทศเช่น ซัมซุง ก็น่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐด้วยเช่นกัน แผนให้เงินสนับสนุนดังกล่าวนับเป็นการสนับสนุนเงินช่วยเหลือครั้งที่ 3 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทสาขาสหรัฐของบีเออี ซิสเต็มส์ (BAE Systems PLC) บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ของอังกฤษ และไมโครชิป เทคโนโลยี อิงค์ (Microchip Technology Inc) บริษัทผู้ผลิตชิปของสหรัฐ ได้รับเลือกเป็นผู้รับทุนสนับสนุน
โดยนพวัชร์