ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 13-14 ก.ค. 2566
การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม
เรื่องที่ 2,411 การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม ทำให้เห็นถึงความพยายามของสมาชิกวุฒิสภา ในการสกัดกั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างชัดเจน
เพราะแม้ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่ยังมีอีกคนคือ บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังมีโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แม้โอกาสของ พลเอกประวิตร จะมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะหากเกิดการเปลี่ยนขั้วเกิดขึ้น พรรคพลังประชารัฐของพลเอกประวิตร อาจได้จับมือกับพรรคเพื่อไทย และขั้วรัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคพรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน
ดังนั้น แม้จะมีสัญญาณจากพลเอกประยุทธ์ แต่ยังไม่มีสัญญาณจากพลเอกประวิตร จึงทำให้ ส.ว.ยังคงดึงดัน ไม่ยอมรับมติประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลให้ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง
มองได้ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ บิ๊กป้อม ประกาศวางมือ เมื่อ นั่นแหละโอกาสที่พิธา จะได้เป็นนายกฯ จะมีมากขึ้น
เรื่องที่ 2,412 วันนี้ (13 ก.ค.66) ได้มีโอกาสติดสอยห้อยตาม อ.หน่อง “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ.ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ซึ่งเป็นโครงการฯ ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) หลังจากที่เคยมาไปแล้วเกือบ 1 ปี
มาครั้งนี้ได้เห็นการพัฒนาของ สมาร์ท ปาร์ค เป็นอย่างมาก โดยล่าสุดความคืบหน้างานก่อสร้างสะสมไปได้แล้วกว่า 61.78% ซึ่งเท่าที่ดูแล้วก็คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567 อย่างแน่นอน ส่วนนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนก็คือจีน และนักลงทุนยุโรปทางด้านโลจิสติกส์ที่กำลังให้ความสนใจพื้นที่ขนาด 10 ไร่
ดูแล้วนี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการแห่งความหวังให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เป็นอย่างดี ขยันทำงานสมชื่อ อ.หน่องจริงๆเลยขอรับเจ้านาย
สรุปต่างประเทศ
เรื่องที่ 2,413 องค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมด้วยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) ได้ประกาศเตือนเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเชื้อไวรัสอาจมีการปรับตัวเพื่อให้แพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น และเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยกระดับการเฝ้าระวังโรค และปรับปรุงสุขอนามัยในฟาร์มสัตว์ปีกต่าง ๆ
เมื่อช่วงต้นปี 2566 โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อได้ง่ายในนกป่าได้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในหลายประเทศ โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสายพันธุ์ติดเชื้อและล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จนสร้างกระแสความกังวลว่า อาจจะระบาดมาสู่มนุษย์ได้
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานไปยัง WHO ว่า มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อประมาณ 6 รายเท่านั้น และส่วนใหญ่อาการป่วยไม่รุนแรง “เราขอแจ้งให้ทุกๆ ประเทศยกระดับในการเฝ้าติดตามเชื้อไวรัสเหล่านี้ และตรวจหาการติดเชื้อในมนุษย์ด้วย” ดร. ซิลวี ไบร์อันด์ ผู้อำนวยการฝ่ายเตรียมความพร้อมและป้องกันโรคระบาดและการแพร่ระบาดใหญ่ของ WHO กล่าว
WHO, FAO และ WOAH แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องคุ้มครองสัตว์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และปกป้องประชาชนด้วย
เรื่องที่ 2,414 สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 เนื่องจากบรรดารัฐบาลได้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระหนี้อย่างมาก
หนี้ในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแซงหน้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2545
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “ตลาดอาจดูเหมือนยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้คนล้วนได้รับผลกระทบแล้ว” พร้อมเสริมว่า “บางประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกกำลังถูกบีบให้เลือกระหว่างการชำระหนี้หรือการรับใช้ประชาชน”
ประเทศกำลังพัฒนาเป็นหนี้เกือบ 30% ของหนี้สาธารณะทั่วโลก โดยจีน อินเดีย และบราซิล มีหนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 70% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 60% ซึ่งบ่งชี้ถึงภาระหนี้ที่ระดับสูง
รายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า “หนี้กลายเป็นภาระที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผลจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น การลดค่าเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซา” นอกจากนี้ UN เน้นย้ำว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่เพียงพอและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยชี้ว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กว่า 50 ประเทศ มีภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยสุทธิสูงกว่า 10% ของรายได้
โดยนพวัชร์