ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 11-12 ก.ค. 2566
ถึงเวลานี้ หลายคนวิเคราะห์ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เรื่องที่ 2,393 ถึงเวลานี้ หลายคนวิเคราะห์ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทีนี้ เรามาวิเคราะห์ดูว่าถ้าพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ พรรคก้าวไกล จะไปต่ออย่างไร
1.เศรษฐา หรือ อุ๊งอิ๊งขึ้น ประเมินว่าพิธา จะยอมถอยให้พรรคเพื่อไทยเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา หรือ อุ๊งอิ๊งขึ้น โดยมีพรรคก้าวไกล ร่วมรัฐบาลด้วย หากเป็นเช่นนั้น แสดงว่าขั้วเดิมยังจับมือกับอยู่ แต่ยังต้องลุ้นว่า ส.ว.จะโหวตให้ เศรษฐา หรือ อุ๊งอิ๊งขึ้น หรือไม่ เพราะโจทย์ใหญ่คือ ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาล
2.ก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน ประเมินว่าพรรคก้าวไกล จะยอมเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพรรคเพื่อไทย จะจับมือกับขั้วเดิมที่จับกันอยู่ตอนนี้ แต่ยกเว้นพรรคก้าวไกล จากนั้นจึงดึงเอาพรรคอื่นๆมาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
3.ก้าวไกล เพื่อไทย จับมือกันแน่น เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยขั้วรัฐบาลเดิม เพราะหากพรรคเพื่อไทย ทิ้งพรรคก้าวไกล แล้วไปจับมือกับขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เป็นไปได้ว่าผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จำนวนมากย่อมไม่พอใจ และจะทำให้เสียคะแนนเสียงอย่างมหาศาล
4.ม็อบมาแน่ การที่พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาล พิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุน แน่นอนจะเกิดการชุมนุมใหญ่ตามมา
เรื่องที่ 2,394 ใกล้ถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี (13 ก.ค. 66) เข้ามาทุกที่ ทุกฝ่ายต่างก็ลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อทั้งที่เป็นคอ และไม่ใช่คอการเมือง เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแบบเต็มประตู บก.ชวนคุยมีโอกาสได้หารือแบบเป็นกันเอง “อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท.ถึงเรื่องการเมืองหากผลโหวตไม่ได้ออกมาอย่างที่ประชาชนหวัง
อิศเรศ ยอมรับตามตรงแบบไม่มีกั๊กเลยว่า หากการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ จนนำไปสู่การลงถนนและเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนทางด้านของความเชื่อมั่น รวมไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจ อิศเรศให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอลนีโญ หรือการส่งออกที่ยังติดลบ
ภาคธุรกิจเอง รวมถึงภาคประชาชนก็มีความหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลเข้ามาจะมีการขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายของประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ กระแสที่สนุบสนุนนายพิธา ซึ่งหากมีการรวมตัวกันลงถนนและก่อให้เกิดความรุนแรง ความเชื่อมั่นจะหดหายไปอย่างแน่นอน
พร้อมกับยอมรับว่า ปัจจุบันประชาชน หรือเอกชนต่างก็เจอปัญญาค่าครองชีพ ค่าไฟ และอีกสารพัดเรื่อง หากรัฐบาลตั้งไม่ได้ก็น่าจะเกิดปัญหา เพราะเอกชนในประเทศไทยไม่ได้แข็งแรงเหมือนต่างประเทศ ที่บางประเทศรัฐบาลตั้งช้า แต่เอกชนก็สาารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปไดด้วยดี
ในความคุยแบบเป็นกันเอง บก.ชวนคุยก็แอบหวั่นใจตามไปด้วยกับคำพูดจากปากของอิศเรศที่เอ่ยออกมา ยังไงก็เอาใจช่วยประเทศไทยของเราให้ก้าวผ่านทุกอย่างไปได้ด้วยดีก็แล้วกันเนอะทุกท่าน
เรื่องที่ 2,395 สุดท้ายแล้ว เราก็ถูกต้ม !! จากเหตุการณ์ Mobile Banking และ Internet Banking วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ล่มเกือบทุกแบงก์ ทำให้ ธปท.ทนไม่ไหว ออกมากล่าวย้ำเป็นครั้งที่ร้อย หรือสองร้อยจำไม่ได้ ระบุว่า แบงก์ต้องแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อบริการประชาชนม แต่ล่าสุด ปรากฎการณ์ Mobile Banking และ Internet Banking มีเห็นกันอยู่บ่อยๆ นั้น ได้รับคำตอบจาก “ผยง ศรีวณิช” เอ็มดี KTB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ว่า เกิดจากความผิดปกติของฮาร์ดแวร์ ซึ่งมี 1 ใน 3 อุปกรณ์เกิดการชำรุด ตามกลไก จึงต้องใช้งานอีก 2 อุปกรณ์ที่เหลือแทน
ดังนั้น การที่อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ชำรุดเสียหายดำเนินการได้ 2 วิธีคือ ซ่อม หรือลงทุนซื้อใหม่ ซึ่งทั้ง 2 รายการต่างใช้เงินในการลงทุน ซึ่งก็คือต้นทุนของแบงก์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การให้บริการก็เป็นแบบฟรีๆ จึงถึงเวลาแล้ว ที่ ธปท.จะควรเป็นโอกาสให้แบงก์สามารถคิดค่าบริการได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปริมาณการโอนถี่มากๆ และจำนวนเงินในการโอนสูงๆ ส่วนที่จะมีความถี่มากถี่น้อยเท่าใด หรือจะโอนจำนวนเงินกี่บาท จะถูกเรียกเก็บนั้นแนะนำว่า “คุณน้องผยง” ไปถามลูกพี่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” อดีตรมว.คลัง ก่อนกว่า ยอมหรือไม่ ในฐานะคนที่วางระบบ National e-Payment !!
สรุปข่าวต่างประเทศ
เรื่องที่ 2,396 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมตา แพลตฟอร์มส์ ยืนยันในวันนี้ (11ก.ค.) ว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้งาน “เธรดส์” (Threads) จำนวนมากกว่า 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 5 วันหลังการเปิดตัว และถือเป็นการทุบสถิติการทำยอดสมาชิก 100 ล้านเร็วที่สุดของแอปพลิเคชั่นในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ เมตา แพลตฟอร์มส์ เปิดตัว Threads เมื่อวันที่ 5 ก.ค. เพื่อท้าชนทวิตเตอร์ของนายอีลอน มัสก์
ก่อนหน้านี้ ChatGPT ใช้เวลา 2 เดือนในการทำยอดสมาชิก 100 ล้านราย ขณะที่ TikTok ใช้เวลา 9 เดือน และ Instagram ใช้เวลา 2 ปีครึ่ง ส่วนทวิตเตอร์ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีครึ่ง
จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งาน Threads เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ขณะที่ยังไม่มีการเปิดใช้งานในสหภาพยุโรป (EU) อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ใช้งาน Threads ยังคงต่ำกว่าทวิตเตอร์ โดยข้อมูล ณ เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ก่อนที่นายอีลอน มัสก์จะเข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ ระบุว่า ทวิตเตอร์มีจำนวนผู้ใช้งานรายวันเกือบ 240 ล้านคน
เรื่องที่ 2,397 เว็บไซต์ Downdetector.com รายงานว่า ผู้ใช้งานอินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก และวอทส์แอป ในสหรัฐจำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้ในวันจันทร์ (10 ก.ค.) ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าของวันนี้ตามเวลาไทย เนื่องจากระบบล่ม โดยแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียทั้ง 3 เป็นของบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม Downdetector.com ระบุว่า ผู้ใช้งานอินสตาแกรมในสหรัฐจำนวน 13,000 คนไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ขณะเดียวกันมีผู้ใช้งานประมาณ 5,400 คน และ 1,870 คนไม่สามารถเข้าใช้งานบนเฟซบุ๊กและวอทส์แอปได้ตามลำดับ
เรื่องที่ 2,398 “แมรี ดาลี” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง “เราจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้เพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%” นางดาลีกล่าว นอกจากนี้ นางดาลีกล่าวว่า การดำเนินการที่น้อยเกินไปจะสร้างความเสี่ยงมากกว่าการดำเนินการที่มากเกินไป แต่ขณะนี้ การดำเนินการของเฟดมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเฟดจึงควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่ดำเนินการในปีที่แล้ว เพื่อประเมินการตอบรับของเศรษฐกิจต่อมาตรการของเฟด ขณะที่ “ลอเรตตา เมสเตอร์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงแข็งแกร่งเป็นปัจจัยทำให้เฟดยังคงต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
“เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากกว่าคาดในช่วงต้นปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และการที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% ดิฉันเห็นว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก และคงไว้ระยะหนึ่ง ขณะที่เรารวบรวมข้อมูลเพื่อดูว่าเศรษฐกิจมีการปรับตัวอย่างไร” นางเมสเตอร์กล่าว นอกจากนี้ นางเมสเตอร์กล่าวว่า ผู้นำภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มในอนาคต และคาดว่าสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้
โดยนพวัชร์