ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 6-7 มิ.ย 2566
ข่าวเด่นประเด็นแรง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
เรื่องที่ 2,223 ประกาศตรวจสอบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้อนหลัง 9 ปี นับตั้งแต่มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
โดยในการตรวจสอบนี้จะดูว่า พลเอกประยุทธ์ ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น ได้ใช้อำนาจอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การออกคำสั่งตามมาตรา 44 หรือการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการดำเนินการเรื่องต่างๆให้ง่ายขึ้น หรือเรียกว่าทางลัด
เรื่องนี้มีปมให้ต้องวิตกอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การที่ พลเอกประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 ระงับการดำเนินงานของเหมืองทองคำอัครา ก่อให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 4 หมื่นล้าน จนมีการฟ้องร้องดำเนินการเอาผิดในขั้นอนุญาโตตุลาการ กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เมืองทองอัคราได้กลับมาดำเนินงานอีกครั้ง
ไหนจะเรื่องการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. จัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น คดีความของรัฐบาลในอดีต สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงเหล่าบรรดาผู้แสดงความเห็นต่อต้านการรัฐประหาร ต่างถูกจับกุมกันสนั่นหวั่นไหว
กูรูการเมืองมองเรื่องนี้อย่างน่าวิตก เป็นห่วงว่า บางทีการประกาศเรื่องนี้ออกไปแต่หัววัน อาจไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลก้าวไกล เพราะไม่แน่อาจทำให้ พลเอกประยุทธ์ และคณะ ไม่อยากลงจากอำนาจ เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า การลงหลังเสือนั้น หากไม่วางแผนดีๆ ก็จะโดนเสือกัดได้
เรื่องที่ 2,224 เรียกว่าเข้าตากรรมการ โดนใจประชาชนไปเต็มๆสำหรับการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือกรอ. หน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อท่านอธิบดี “จุลพงษ์ ทวีศรี” เดินหน้าปรับปรุงประกาศกระทารวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุดเรื่อง เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ที่นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย หรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
เนื้อหาของประกาศที่ บก. ชวนคุยมองว่าดีก็เพราะกำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
เห็นด้วยนะที่ให้ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่ปล่อยออกมาเป็นภัยกับสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม และโลกของเราที่เวลาก็กำลังเดินหน้าไปสู่แนวทางการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ทำดีก็ต้องชื่นชมกันแหละครับเจ้านาย
ส่วนทางฝั่งของกระทรวงพลังงานก็มีโครงการดีๆไม่แพ้กัน เมื่อได้ริเริ่มโครงการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานของบ้านอยู่อาศัยตัวอย่างในประเทศไทยกว่า 2,500 หลัง เพื่อจัดทำเป็นเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่สามารถนำไปพัฒนาต่อให้อยู่ในรูปแบบ Residential Energy Code (REC) สำหรับส่งเสริมการออกแบบบ้านอยู่อาศัยที่จะก่อสร้างใหม่ในอนาคต
ให้เกิดผลในวงกว้างเช่นเดียวกับกฎหมายควบคุมด้านพลังงานในอาคารขนาดใหญ่ (มาตรฐาน Building Energy Code หรือ BEC) เกิดการประหยัดพลังงานได้ตามเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งเพื่อยกระดับบ้าน ทั้งในส่วนบ้านจัดสรรของผู้ประกอบการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และในส่วนบ้านของประชาชนทั่วไป ผลักดันให้เกิดมาตรฐานทางการออกแบบบ้านอยู่อาศัยเพื่อการประหยัดพลังงานที่ถูกต้องในระยะยาว เพราะพลังงานเป็นเรื่องต้องใส่ใจไม่ใช่ปล่อยละเลย ช่วยกันทำโครงการลักษณะแบบนี้ออกมาเยอะๆนะครับ
สรุปข่าวต่างประเทศ
เรื่องที่ 2,225 ไนท์ แฟรงค์ (Knight Frank) บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของโลกเปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งกำลังวางแผนลดพื้นที่สำนักงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่พวกเขาปรับตัวรับการทำงานจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่กำลังวางแผนการที่จะขยายพื้นที่สำนักงานของตน
จากการสำรวจของไนท์ แฟรงค์นั้น ในบรรดาผู้บริหารของบริษัทที่รับผิดชอบด้านอสังหาริมทรัพย์ 350 แห่งทั่วโลก ที่มีพนักงานรวมกัน 10 ล้านคน พบว่า ในบรรดากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังลดคาร์บอนฟุตปรินต์นั้น ได้ตั้งเป้าที่จะลดพื้นที่สำนักงานลง 10-20%
“ลี อีเลียต” ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของไนท์ แฟรงค์ กล่าวว่า “สิ่งที่ดีกว่าโดยใช้พื้น ที่น้อยกว่าน่าจะเป็นบรรทัดฐานขององค์กรขนาดใหญ่ มันไม่ใช่จุดตายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะสิ่งที่เห็นอยู่นี้คือ การขาดแคลนอุปทาน และการเพิ่มขึ้นของค่าเช่าอาคารที่มีหลากหลายประโยชน์การใช้สอย”
ทั้งนี้ โอกาสที่บริษัทขนาดใหญ่จะลดพื้นที่สำนักงานลงเพิ่มอีก ก่อให้เกิดกระแสกังวลถึงอนาคตของอาคารเก่าและอาคารที่อยู่ในทำเลที่ไม่เป็นที่นิยม ในขณะเดียวกัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์กำลังเผชิญกับภาวะตลาดถดถอยอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
เรื่องที่ 2,226 มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจีนพร้อมใจกันปรับขึ้นค่าเทอมอย่างมากในปีนี้ โดยมหาวิทยาลัยบางแห่งปรับขึ้นค่าเทอมเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับลดงบประมาณสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการคุมเข้มด้านการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มงวด
ค่าเทอมที่พุ่งสูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาขาดแคลนการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น หลังดำเนินนโยบายสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นาน 3 ปี รวมถึงวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ต่างพึ่งพางบประมาณจากทางการอย่างมากแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนตะวันออก (East China University of Science and Technology) ซึ่งตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ได้ปรับขึ้นค่าเทอมราว 54% สู่ระดับ 7,700 หยวน (1,082 ดอลลาร์) ต่อปีสำหรับนักศึกษาใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และพลศึกษา และปรับขึ้นค่าเทอมราว 30% สำหรับนักศึกษาศิลปะศาสตร์
ทั้งนี้ เทอมสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เตียนจี้ (Shanghai Dianji University) เพิ่มขึ้นราว 40% ส่วนนักศึกษาในสาขาการจัดการ เศรษฐศาสตร์ และอักษรศาสตร์จะต้องเสียค่าเทอมเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
มณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ปรับขึ้นค่าเทอมสำหรับสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 41% ในมณฑลเสฉวน
เรื่องที่ 2,227 สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) เปิดเผยวันนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ปรับตัวลงสู่ระดับ 6.1% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 6.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากต้นทุนการขนส่งและราคาอาหารชะลอตัวลง
“เดนิส มาปา” ผู้อำนวยการของ PSA กล่าวในการแถลงข่าวว่า “นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลง”ข้อมูลของ PSA เผยให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 5.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.ปีนี้อยู่ที่ 7.5%
ปัจจัยหลักที่ฉุดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงในเดือนพ.ค.ปีนี้คือ ต้นทุนการขนส่งซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.5% จากระดับ 2.6% ในเดือนเม.ย. ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลง 7.4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 7.9% ในเดือนเม.ย. และราคาด้านการบริการในร้านอาหารและที่พักอาศัย ชะลอตัวลงสู่ระดับ 8.3% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 8.6% ในเดือนเม.ย.
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ลดลงสู่ระดับ 7.7% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 7.9% ในเดือนเม.ย.
เรื่องที่ 2,228 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่ากัมพูชามีแนวโน้มหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2570 และจะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573
สมเด็จฮุนเซน ซึ่งเข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยภูมินทร์นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แห่งกัมพูชาเกือบ 6,000 คน กล่าวว่าการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
นอกจากนั้น เศรษฐกิจของกัมพูชาฟื้นตัวดีในยุคหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ 5.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 5.2% ของปี 2565
ด้านเพ็ญ โสวิชิต ปลัดและโฆษกกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี (CKFTA) จะช่วยกัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะและบรรลุเป้าหมายข้างต้นในปี 2573 ตลอดจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593
ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคประกอบด้วย 15 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่ค้าทั้งห้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่า กัมพูชาผ่านเกณฑ์การหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดครั้งแรกในปี 2564 หลังจากถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าวมานาน 2 ทศวรรษ โดยมีแผนหลุดพ้นจากสถานะนี้เร็วที่สุดในปี 2570 ซึ่งจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่สะท้อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอันมีนัยสำคัญ
เรื่องที่ 2,229 นางดวีโกริตา การ์นาวาตี หัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยาและธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย (BMKG) ระบุว่า อินโดนีเซียคาดการณ์ว่าจะเกิดฤดูแล้งอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวพืชผลและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า
“เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่เรามีนั้น เอลนีโญเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิ.ย. และจะส่งผลกระทบเกือบทั่วประเทศอินโดนีเซีย และจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนกระทั่งถึงเดือนก.ย.”
นางการ์นาวาตี ระบุในการแถลงข่าวว่า เอลนีโญจะก่อให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงบนเกาะหลัก ๆ ของอินโดนีเซีย ซึ่งบางแห่งอาจไม่มีฝนตกเลย หรือมีฝนตกเพียง 30% จากปริมาณปกติ”กรณีนี้จะทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรและการชลประทาน พืชไร่เสียหาย รวมไปถึงไฟป่า” นางการ์นาวาตีกล่าว พร้อมเรียกร้องให้บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพภูมิอากาศด้วย “เราจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก”
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า อินโดนีเซียเกิดไฟป่าครั้งรุนแรงเมื่อปี 2563 ซึ่งหมอกควันปกคลุมไปทั่วประเทศและภูมิภาค สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในพื้นที่ 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
โดยนพวัชร์