ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 11-12 ม.ค.2566

จะยุบสภาอยู่แล้ว แต่ “นริศ ขำนุรักษ์” เพิ่งได้เข้าปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และวันที่ 11 ม.ค.66 คือวันที่เขาเดินทางเข้ากระทรวงวันแรก หลังได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.65 แต่ก่อนจะเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อต้นเดือนธ.ค. กลับติดโควิด-19 จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

เรื่องที่ 1,711 บรรยากาศวันแรก มี “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย “ประยูร อินสกุล” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อธิบดีกรมการปกครอง “ชยาวุธ จันทร” อธิบดีกรมที่ดิน “บุญธรรม เลิศสุขีเกษม” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย “ขจร ศรีชวโนทัย” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน “พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
รัฐมนตรีนริศ ยังได้เข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับมอบนโยบายและภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

เรื่องที่ 1,712 ดูเหมือนว่าเรื่องของค่าไฟจะเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนค่อนข้างกังวลมากเป็นพิเศษ แต่พอฟังเหตุผลจาก พี่ไก่ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้วก็พอที่จะเข้าใจได้แหละ เพราะค่าไฟส่งผลกระทบไปหลายชิ่งมากๆ ทั้งเรื่องของต้นทุนการผลิต และการดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยแม้ว่าล่าสุดภาครัฐบาลจะปรับลดค่าไฟที่ภาคเอกชนต้องจ่ายลงมาเหลือที่ 5.33 บาท จากเดิมที่ต้องจ่าย 5.69 บาท แล้วก็ตามที
แต่ท่านประธาน ส.อ.ท. บอกว่ายังเป็นระดับสูงกว่าที่เอกชนต้องการให้พยุงไว้หน่วยละ 4.72 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นระดับ 9-10% ถือเป็นระดับที่สูงเช่นกัน แม้ผู้ผลิตจะพยายามดูแลราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูงมากเกินไปก็ตาม แต่สิ่งที่ บก. ชวนคุยฟังแล้วรู้สึกกังวลตามไปด้วยก็คือการที่ “พี่ไก่” บอกว่า ฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูเรื่องการแก้ปัญหาค่าเอฟทีในระยะยาว เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ล่าสุดโรงพยาบาลก็ประกาศปรับขึ้นค่าบริการนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)
รวมถึงนักธุรกิจก็เริ่มชะลอและทบทวนสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งระบบ สะท้อนเรื่องพลังงานเป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และท้ายสุดจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเงินเฟ้อ เป็นปัญหาที่ต้องมาคุยกันเรื่องโครงสร้าง ฟังแล้วก็พอนึกภาพตามเห็นปัญหาตามได้เลย ยังไงถ้าคนในรัฐบาลได้อ่านคอลัมน์นี้ก็อย่าลืมช่วยนำกลับไปคิดด้วยนะขอรับเจ้านาย

เรื่องที่ 1,713 กกร.ประชุม ครั้งแรกของปี ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว แม้จะดีขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากขึ้น มากกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณ 11 ล้านคน ช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% ดังนั้น การมาของนักท่องเที่ยวจีน จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะพุ่งสูงถึง 20-25 ล้านคน ขณะที่ จีดีพี ปีนี้ ขยายตัวที่ระดับ 3-3.5% ดีกว่าปีนี้ แต่ยังเป็นตัวเลขประมาณการเดิม ของเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เหตุผลคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งออกลดลง มีความรุนแรงมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

เรื่องที่ 1,714 งานเยอะมากถึงมากที่สุด ต้องยกให้ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย “ผยง ศรีวณิช” หลังประชุม กกร.เสร็จ เวลาประมาณเที่ยงนิดๆ ยังไม่ทานข้าวกลางวัน ต้องเดินทางไปต่อ เข้าร่วมประชุมอีกหลายวง เรียกคนรถให้รอรับที่จอดรถใต้ดิน “โรงแรมอนันตรา สยาม” ไม่ต้องขึ้นมาข้างบน พร้อมเดินแบกกระเป๋าเป้ ลงชั้นใต้ดิน เพราะกลัวเสียเวลา!! อย่างนี้เรียกว่า “สุดยอดเอ็มดี”
โดยนพวัชร์