ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 3-4 พ.ย.2565
เลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้ว คือเลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว ยังต้องลุ้นใบที่ 3 ด้วย สำหรับการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เรื่องที่ 1,531 เมื่อล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบเสนอให้ทำประชามติเพื่อ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมการเลือกตั้ง โดยขั้นตอนต่อไปก็คือการส่งให้วุฒิสภาลงมติอีกครั้งว่าจะเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวหรือไม่ หากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ จึงมีผลที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับไปพิจารณาว่าจะรับไปดำเนินการตามมติหรือไม่ แต่หากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบจะถือว่าญัตติดังกล่าวต้องยุติลง
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ ส.ว.จะไม่เห็นด้วย เพราะที่ประชุมสภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 323 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 7 เสียง เสนอให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประเด็นคือ ครม.จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ย่อมจะมีประเด็นการยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจาก คสช. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพยุงอำนาจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยหากผลประชามติปรากฎว่าประชาชน เห็นด้วยให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ว.ก็หมดสิทธิ์ขวางทางเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา
เรื่องที่ 1,532 ช่วงนี้เหตุกาณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันรั่ว แก๊สรั่วเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำเอาประชาชนต้องขวัญหนีดีฝ่อกันไม่หยุดหย่อน ล่าสุดเกิดเหตุแก๊สรั่วที่ สถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลัก สาขาทุ่งครุ ถนนเลียบด่วนประชาอุทิศ 76 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบกิจการ ขนส่งและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ โดยลักษณะที่เกิดเหตุเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ภายในโรงจอดรถก๊าซ ที่บรรจุแล้ว รอการขนส่ง เป็นก๊าซเอ็นจีวีรั่วไหลออกจากตัวรถขนาด 3.5 ตัน ของบริษัทหนึ่ง ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุเกิดจากท่อทิ้วบ์ของรถบรรจุก๊าซแตกรั่ว
อย่างไรก็ยังถือว่าโชคดีที่เกิดเหตุไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รถดับเพลิงใช้น้ำทำการฉีดพรมเพื่อให้ผู้ควบคุมสถานีดำเนินการปิดวาล์วบริเวณท่อทิ้วบ์เป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากเหตุกาณณ์ดังกล่าวก็คือ แนวทางการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของเหล่านี้ว่ามีประสิทธิภาพดีหรือไม่ หรือถูกปล่อยปะละเลยด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะเชื่อว่าอุปกรณ์เหล่านี้น่าจะมีอายุการใช้งานมามากพอสมควร ถ้าจะใส่ใจดูแลกันให้ดีก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างมาก
ครั้งนี้โชคดีที่ไม่มีใครได้รับาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่อย่ารอให้เกิดการสูญเสียก่อนเลยนะครับ แล้วค่อยคิดที่จะทำนะครับเจ้านาย
เรื่องที่ 1,533 เริ่มแล้ว “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ณ Hall 5 อิมแพค เมืองทองธานีระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ เพื่อดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติถึง 2 ครั้งด้วยกันคือ 1.ไวรัส โควิด-19 และ2.วิกฤติที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจทรุด ประชาชนตกงาน ค้าขายสะดุด หนี้ดีต้องกลายเป็นหนี้เสีย “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” สุดท้ายถึงขั้นต้องเบี้ยวหนี้ กลายเป็นหนี้เน่าไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่งผลกระทบฐานะและกิจการธนาคารเหมือนกัน
ส่วนจำนวนลูกหนี้ที่คาดว่า จะเข้ามาประนอมหนี้ในมหกรรมครั้งนี้ เบื้องต้นลงทะเบียนแล้ว 95,000 ราย แต่หากมองในภาพรวมตลอดการจัดงาน ตั้งต้นเดือนพ.ย.จนถึงเดือนม.ค.ปีหน้า คาด มีลูกหนี้เข้ามาติดต่อธนาคารของรัฐนับล้านราย เพราะกระทรวงการคลังวางเป้าหมายจัดงาน 5 ภาค ทยอยไล่ไปตั้งแต่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี และภาคใต้ จังหวัดสงขลา
สำหรับคำถามยากๆ คือ “มหกรรมแก้หนี้” หมายถึงแบงก์รัฐมีหนี้มากใช่หรือไม่ งานนี้ “โป๊ะ-พรชัย ฐีระเวช” ผอ.สศค.ชี้แจงว่า ณ กลางปี 2565 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลทั้งระบบ (แบงก์รัฐและแบงก์เอกชน) อยู่ที่ 853,996 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อทั้งระบบ 24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 3.47%
แต่เมื่อแยกหนี้ออกแล้ว พบว่า เอ็นพีแอลของแบงก์รัฐ สูงแตะ 5% ขณะที่ แบงก์เอกชนมีเอ็นพีแอล 3% ถือว่า แบงก์รัฐมีหนี้เน่ามาก แต่ในช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติโควิดและสงครามรัส เซีย-ยูเครน ต้องไม่ลืมว่า ก็ได้แบงก์รัฐนี่แหละ!! ที่ออกไปกางร่มช่วยเหลือประชาชน หนี้เน่าจึงไม่ได้สูงสุดโต่งเมื่อเทียบกับปัญหาหนักๆ ของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
สุดท้ายไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะลูกหนี้ทั้งหลาย ถ้าหากรู้ความจริงแล้ว ต้องขอบคุณ “เอ็ม-ชื่นชอบ คงอุดม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี นั่งทำงานที่กระทรวงการคลังตั้งแต่เช้าถึงเย็นทุกวัน เพื่อประคับประคองโครงการนี้ ให้แจ้งเกิดขึ้นมาเป็นจริงเป็นจัง เพื่อให้ประชาชนสามารถแก้ไขหนี้ได้อย่างราบคาบ ไม่สะดุดล้มเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
โดยนพวัชร์