ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 23-24 ต.ค.2565
สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป คาดว่าจะเป็นความลำบากของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างแน่นอน เพราะ
เรื่องที่ 1,496 1.ความนิยมในตัวรัฐบาลตก จากการบริหารงานในช่วงที่ผ่านมา พรรค พปชร.ถือว่าสร้างผลงานได้น้อยกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)และภูมิใจไทย
2.ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขายไม่ได้แล้ว หรือขายได้ยากเต็มทีแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลานั่งเป็นนายกฯอีกแค่ 2 ปี ดังนั้น จึงยากที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
3.ส.ส.พปชร.เริ่มหาบ้านใหม่บ้างแล้ว เนื่องจากความไม่มั่นคงของพรรค พปชร. ทำให้วันนี้ ส.ส.ของพรรค พปชร.เริ่มมองหาบ้านใหม่กันหลายคน โดยส่วนใหญ่ เลือกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยบ้างไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยบ้าง
ล่าสุดมีข่าวว่า พรรค พปชร.เตรียมเสนอทางออกในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยชูแคมเปญ “หมดที่ลุงตู่ สู่ที่ลุงป้อม”
กล่าวคือ ความพยายามผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมารับช่วงนายกรัฐมนตรี ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว 2 ปี
ซึ่ง ทั้งบิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม จะเป็นนายกฯคนละครึ่ง ครึ่งละ 2 ปี
เรื่องที่ 1,497 กระทรวงพลังงานช่วงนี้งานเข้าถี่เหลือเกิน เรื่องหนึ่งก็ยังแก้ไม่หาย เรื่องใหม่ก็ทยอยเข้ามาอีก ล่าสุดทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ตกเป็นจำเลยถูกตั้งข้อหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟในปัจจุบันแพงขึ้น จากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เพราะกรมตั้งเงื่อนไขในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม โดยเชื่อมโยงกับกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม
ด้วยเหตุนี้ท่านอธิบดีอย่าง “สราวุธ แก้วตาทิพย์” จึงต้องออกโรงชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการใช้ระบบสัมปทานและระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทย และได้เริ่มดำเนินการประมูลจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (G1/61) และบงกช (G2/61) ในปี 2561 เป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นอายุสัมปทาน 4-5 ปี เพื่อให้การบริหารพลังงานของประเทศได้อย่างมั่นคงและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
จนกระทั่งในเดือนธ.ค. 2564 ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตจึงได้ลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ทำให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ และสามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสิ้นอายุสัมปทาน (วันที่ 23 เม.ย. 2565) และสามารถรักษาระดับการผลิตได้ที่ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้จะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ แต่ก็จะเป็นเพียงช่วงเริ่มแรกของสัญญาฯ เท่านั้น โดยกรมฯเองก็ได้ผลักดันให้ผู้รับสัญญาเร่งการดำเนินงาน และปรับแผนงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ในขณะที่การผลิตปิโตรเลียมจากแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือผู้ดำเนินงานรายเดิม (ปตท.สผ. อีดี) ยังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะมีการเพิ่มการผลิตในปี 2566 ด้วย
นอกจากนี้ในช่วงที่ยังไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ได้อย่างเต็มกำลัง ท่านอธิบดีก็ยังยืนยันว่า กรมฯได้มีการเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติม ส่วนกรณีข้อพิพาทการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณระหว่างรัฐบาลไทยและผู้รับสัมปทานรายเดิมซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฏหมายของผู้รับสัมปทานในการรื้อถอนฯ จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ล่าช้าแต่อย่างใด ออกมาชี้แจงแถลงไขก็ดีครับ ประชาชนอย่างพวกเราจะได้เข้าใจว่าที่ต้องมีค่าครองชีพสูงมาจากอะไรครับผม
โดยนพวัชร์