ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 12-13 ก.ย.2565
การเมืองไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ดูให้ดีจะเห็นว่ามีความสดใสซ่อนอยู่
เรื่องที่ 1,393 “ฮาย” ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ประธานสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด วัย 31 ปี ลูกสาวคนเล็กของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตนักการเมืองชื่อดัง ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติแล้ว จากการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติชุดใหม่ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา
นี่นับเป็นการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคครั้งที่ 4 แล้ว สำหรับพรรคเพื่อชาติ นับแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ตามด้วย บุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์ และ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ
สำหรับฮาย จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา ต่อด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อยังวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science) และยังจบเนติบัณฑิตไทยอีกด้วย
เธอผู้นี้เข้ามารับไม้ต่อพี่ชาย ฮั่น-มิตติ ติยะไพรัช ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการฟุตบอล โดยเป็นคนก่อตั้งสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด ตั้งแต่ปี 2552 และมีตำแหน่งเป็นประธานสโมสร ตั้งแต่อายุ 23
ยงยุทธ ติยะไพรัช ส่งลูกชาย ฮั่น-มิตติ ติยะไพรัช ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองไม่ทันไร ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ
ครั้งนั้นตัดสิทธิ์ทางการเมือง 13 กรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหนึ่งในผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มี มิตติ ติยะไพรัช บุตรชายของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รวมอยู่ด้วย
ดังนั้นนี่จึงเป็นเวลาของลูกสาวอย่าง “ฮาย” ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช
เรื่องที่ 1,394 ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นสำหรับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกบน. ซึ่งวันนี้ (12 ก.ย.) มีคิวที่จะต้องประชุมเพื่อหารือภายใต้หัวข้อการทบทวนราคาดีเซลประจำสัปดาห์ โดยที่สื่อมวลชนก็เฝ้ารอมติเพื่อรายงานให้สาธารณะชนรับทราบข้อมูล แต่แล้วสิ่งที่ไม่เหนือไปกว่าความคาดหมายก็ปรากฎขึ้นเหมือนหนังที่ฉายซ้ำไปซ้ำมาทุกอาทิตย์ เมื่อ “พรชัย จิรกุลไพศาล” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ช่วยเลขา กบน. ได้ออกมาแจ้งขอเลื่อนการพิจารณาราคาน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์นี้ออกไปก่อน
โดยยังไม่มีการระบุเวลาประชุม กบน. ในสัปดาห์นี้ที่แน่นอน ซึ่งบอกแต่เพียงว่าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยหากยังจำหนังเก่าเรื่องนี้ได้ดีเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (5 ก.ย.) กบน. คณะนี้จู่ๆก็ประกาศว่า สัปดาห์นี้ไม่มีการพิจารณาการปรับราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากราคา gas oil ลง 15.85 เหรียญต่อบาร์เรล เรียกว่าทำแบบนี้จนผู้สื่อข่าวเองก็ชาชิน และไม่ค่อยคาดหวังอะไรกับข่าวที่จะได้จากคณะกรรมการชุดนี้ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นข่าวดีของประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลไปละกันครับ เพราะเท่ากับว่าราคาดีเซลยังไม่มีการปรับขึ้น แม้จะยังไม่ได้ปรับลงก็ตาม แต่จะให้ดีพวกเจ้านายควรทำงานให้มีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้หน่อยขอรับ เพราะนี่เป็นเรื่องนโยบายระดับชาติเลยนะครับผม
เรื่องที่ 1,395 อย่างที่ติดค้างเอาไว้เรื่อง “เอกนิติ” เปลี่ยน!!! ไป บรรยากาศสื่อมวลสัญจร เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่า ณ วันนี้ “อธิบดีเอก-เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” มีแนวคิดในการพัฒนาและบริหารราชการเปลี่ยนไป จากเดิมนโยบายกำหนดและร่างแผนงานจากฝ่ายบริหารระดับสูง แต่ของใหม่นี้ มาจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ผ่านการอมรมและสัมมนาร่วมกันจนตกผลึก หลังจากนั้น ประกาศเป็นแนวทางในการบริหารของกรมฯ ต่อไป
โดยจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2566 ทั้งหมด 4 เสาหลักประกอบด้วย 1. ESG/BCG Focus คือการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับสินค้า/บริการ ในกลุ่ม ESG/BCG เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยกรมสรรพสามิตมีแนวทาง ในการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio Jet) การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการภาษีในการลดผลกระทบเชิงสังคม โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ความมั่นคงของประเทศด้วย
เสาที่ 2. Agile way of working คือการทำงานที่เน้นความคล่องตัว พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลายและจำเป็นต่อการปฏิบัติงานยุคใหม่ อาทิ Digital Skill, Data Skill เป็นต้น รวมถึงระบบการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ การใช้ระบบการทำงานแบบ Agile และการนำกระบวนการ Design Thinking มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว คล่องตัว และสร้างสรรค์ เพื่อเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
เสาที่ 3. Standardization คือการปรับเปลี่ยนกระบวนงานในทุกมิติเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) และนำประสบการณ์ของผู้เสียภาษีมาสร้างมาตรฐานการให้บริการ (Service Standard) รวมทั้งการนำระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ในกรมสรรพสามิต
และเสาที่ 4. End-to-End Customer-Centric Service บริการผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้นจนจบในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) สร้างต้นแบบหน่วยงานบริการแบบไร้กระดาษ (Paperless) มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการสู่ความยั่งยืน
แต่สิ่งที่เปลี่ยน…ไปอีกอย่างของ “อธิบดีเอก” คือพฤติกรรมการทำงานที่อยู่ร่วมกับลูกน้องและเพื่อนที่ทำงาน ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยเหตุที่ว่า งานที่กรมสรรพสามิตน้อยกว่ากรมสรรพากรเยอะมาก จากเดิมที่ต้องดูแลภาษีปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือ 500,000-600,000 ล้านบาทนั้น ทำให้สบายใจมากขึ้น แถมยังได้เรียนรู้ภาษีใหม่ เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้าและเบียร์ โดยเฉพาะ 2 รายการหลังนั้น เพิ่งรู้ว่า มันดีแค่ไหน จึงได้เรียนรู้เรื่องแอลกอฮอล์ทุกวัน ไม่มีวันไหนที่แอลกอฮอล์ ไม่ตกถึงท้อง เหลือเพียงอย่างเดียวที่ยังไม่ได้เรียนรู้คือ “ภาษีอาบ อบ นวด” พอพูดถึงเรื่องนี้ นักข่าวชาย!! ก็ยกมือขอไปเรียนรู้กับท่านอธิบดีเอกกันเกือบหมดทั้งห้อง
โดยนพวัชร์