ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 12-13 มิ.ย.2565
การเมืองสัปดาห์นี้ ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ ในชื่อ ‘ยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล
เรื่องที่ 1,170 สำหรับประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะอยู่ในกรอบ ดังนี้
1. ความผิดพลาด บกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดิน
2. การจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กระทำผิดต่อกฎหมาย และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
3. การทุจริต ส่อทุจริต เอื้อประโยชน์
4. การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา หรือเรื่องที่เราเคยอภิปรายทักท้วงเอาไว้
5. การละเมิดสิทธิมนุษยชน
6. การทำลายประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
สำหรับรัฐมนตรีที่เข้าข่ายถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประกอบด้วย ‘หัวขบวน’ รัฐบาล 1 รายแน่นอนแล้ว ส่วนที่เหลือจะมาจาก 3 พรรคการเมือง ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐอีก 9 ราย แต่จะเป็นใครบ้างนั้น ทั้งหมดมีความชัดเจนในวันที่มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 15 มิ.ย.นี้
และนี่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ เป็นครั้งสุดท้าย เพราะรัฐบาลจะหมดวาระในอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้านี้แล้ว
เรื่องที่ 1,171 วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่พรรคกล้า มีการแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “คนไทยโดนปล้น! ค่ากลั่นน้ำมัน เพิ่มขึ้น 10 เท่า!!” นำโดยหัวพรรคอย่าง “กรณ์ จาติกวณิช” และ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรค อ่านแค่หัวข้องานก็ว่าน่าสนใจแล้ว ยิ่งได้ฟังที่ “คุณกรณ์” นำเสนอยิ่งสะท้อนเงินในกระเป๋าเหมือนดั่งหัวข้อที่ถูกเปรียบเปรยขึ้นมา เพราะถ้าไล่ดูข้อมูลตาม “คุณกรณ์” ฉายภาพให้เห็นจะพบว่าค่าการกลั่นน้ำมันอะไรจะแพงระยับขนาดนี้ โดยหากไล่ย้อนกลับไป 3 ปี จะเห็นชัดเลย ซึ่งในวันที่ 10 มิ.ย. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 8.10 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 8.99 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 88 สตางค์ต่อลิตร
วันที่ 10 มิ.ย. 64 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 14.01 บาทต่อลิตร ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 14.88 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 87 สตางค์ต่อลิตร และวันที่ 10 มิ.ย. 65 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร “คุณกรณ์” สรุปให้ฟังว่า จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า ทั้งที่ต้่นทุนการกลั่นไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสูงขึ้น แต่ราคาขายก็สูงขึ้น แต่ส่วนต่างของกำไรของเหล่าโรงกลั่นไทยเพิ่มเกือบ 10 เท่า ซึ่งเป็นภาระของประชาชน เห็นภาพชัดเลยครับผม
บก.ชวนคุยมีประเด็นที่อยากให้คิดตาม จากคำพูดของ “คุณกรณ์” นั่นก็คือ ใครเป็นเจ้าของโรงกลั่นมากที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าประเด็นวันนี้น่าจะสร้างความสะเทือนไปถึงกระทรวงพลังงานไม่น้อย เราเองก็คงต้องมาติดตามกันว่าฉากจบของประเด็นนี้จะเป็นอย่างไรครับผม
โดยนพวัชร์