ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 3-4 เม.ย.2565
โลกออนไลน์แห่แชร์ ภาพป้ายหาเสียงของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่โพสต์โดย oopatham ratanasupa โดยเป็นป้ายหาเสียงที่ไม่ขวางทางเท้า และไม่บังสายตา ซึ่งได้รับคำชื่นชมโซเชียลมีเดีย เป็นอย่างมาก
เรื่องที่ 975 ต่อเรื่องดังกล่าว “ธันวา ไกรฤกษ์” อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “แบบนี้เดี๋ยวก็แลนด์สไลด์ตั้งแต่เลือกผู้ว่าฯหรอก แค่เรื่องพื้นๆ แต่ดูรู้ว่าใครเตรียมตัวมาดี”
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เล่นกับกระแสได้ดี โดยประกาศเชิญชวนแฟนเพจ ที่พบเห็นป้ายหาเสียงของ “ชัชชาติ” ให้ถ่ายภาพอวดกัน โดยระบุว่า “ชวนตามล่าหาป้ายชัชชาติ เจอที่ไหน comment มาได้เลยครับ หากป้ายกีดขวางทางสัญจรจะได้รีบแก้ไขครับ”
ทั้งนี้ มีแฟนเพจส่งภาพป้ายหาเสียงของชัชชาติ ตามสถานที่ต่างๆมาจำนวนมาก
นั่นคือเรื่องป้ายหาเสียง ที่เมื่อเข้าสู่เทศกาลเลือกตั้ง ก็จะพบเห็นอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ติดระเกะระกะแบบไม่สนใจใยดีว่าจะบดบังทัศนวิสัย เป็นอันตรายต่อการสัญจรหรือไม่
เรื่องที่ 976 จัดการได้หมดทั้งงานราษฎ์งานหลวงจริงๆสำหรับ “พี่เจี๊ยบ วรวรรณ ชิตอรุณ” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับซี 10 หญิงเดียวของกระทรวง เรียกว่าครบเครื่องในตัวคนเดียว หลังจากที่จัดการงานหลังบ้านเรื่องการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงให้เป็นระเบียบไม่ชนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พี่เจี๊ยบยังต้องทำภารกิจหลักตามหน้าที่ ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่การปฏิบัติ โดยมอบหมายให้สถาบันอาหารดำเนินงานโครงการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงจากผลผลิตประมงเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดเห็นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประมง ในปีงบประมาณ 65 ภายใต้วงเงิน 3,090,000 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานใน 10 จังหวัดภาคกลาง แบบนี้คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้วล่ะครับผมสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมงานไหลลื่นทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน
เรื่องที่ 977 ส่วนคนนี้ก็ “เข้าป่า เข้าพง” สมยาฉาที่ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพลังงานตั้งให้จริงๆ สำหรับ “พี่พงษ์ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์” รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งมั่นเหลือเกินกับการทำงานบนสื่อช่องทางออนไลน์ แต่กลับไม่เคยมาปรากฎกายให้เห็นเลย ไม่ว่าสื่อมวลชนจะเรียกหาสักเท่าไหร่ เพื่อให้ช่วยตอบคำถามเรื่องของมาตรการในการดูแลค่าครองชีพประชาชน สงสัยท่านคงลืมไปแล้วว่าชีวิตความเป็นอยู่จริง กับโลกออนไลน์มันแตกต่างกัน ไม่ใช่โลกเดียวกัน
โดยนพวัชร์