ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 17-18 มี.ค.2565
“บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวอัลจาซีรา กรณีสงครามยูเครน – รัสเซีย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ สำนักข่าวเออีซี 10 นิวส์ จึงขอนำบทวิเคราะห์ มาลงให้อ่านใน บก.ชวนคุยบ้าง พวกเราจะได้รับทราบอีกแย่มุมของสงคราม ที่ไม่ใช่ สงครามอาวุธปืน หรือรถถัง แต่เป็นสงครามเศรษฐกิจ”
เรื่องที่ 920 ในห้วงเวลาที่รัสเซียถูกบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรหลากหลายจากกลุ่มชาติตะวันตกและพันธมิตร กลับถือเป็นโอกาสทองมากขึ้นแก่รัสเซียในการหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติภูมิภาคเอเชียยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าชาติเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชีย อันได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์ จะร่วมกับชาติพันธมิตรยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย
แต่อีกด้านหนึ่ง จีนในฐานะชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกยังสนับสนุนรัสเซียด้วยดีทั้งด้านการทูตและเศรษฐกิจขณะ เดียวกัน ท่าทีของกลุ่มชาติอาเซียน แม้ส่วนใหญ่สนับสนุนสหประชาติลงมติไม่เห็นด้วยต่อกรณีรัสเซียบุกยูเครน (รวมถึงประเทศไทย) แต่แท้จริงแล้วหลายประเทศในภูมิภาคถือเป็นโอกาสทองที่จะผูกสัมพันธ์กับรัสเซีย
เช่น รัสเซียกับเวียดนาม เป็นลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของรัสเซีย รวมถึงเรือดำน้ำและยุทโธปกรณ์เกี่ยวข้องกับการป้องกันดินแดนอธิปไตยทางทะเล
สปป.ลาวและเมียนมา ก็เป็นลูกค้าซื้ออาวุธรายสำคัญจากรัสเซียด้วย
ฟิลิปปินส์ โดยประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต้” ยกย่องชื่นชมประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซียเสมือน “วีรบุรุษ” และพร้อมเดินหน้าร่วมมือระดับทวิภาคีด้านการทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับรัสเซีย โดยรัสเซียเริ่มส่งเรือรบไปเยือนน่านน้ำฟิลิปปินส์ในฐานะทูตสันถวไมตรีแล้ว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์
ขณะที่ “นายพลปราโบโว ซูบีอันโต้” รมว.กลาโหมอินโดนีเซีย ได้ปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอินโดนีเซียยุคใหม่ในรูปแบบของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากเปิดโอกาสให้รัสเซียเข้ามาร่วมธุรกิจด้านพลังงานกับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยผ่านช่องทางทะเลจีนใต้.
ส่วนประเทศไทย ก็มีเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีน แต่ใช้เครื่องจากประเทศเยอรมัน สุดท้ายจะจบ หรือ จม ต้องไปคิดกันเอาเอง
เรื่องที่ 921 มีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้น เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิดความไม่แน่ใจว่าวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะยึดที่รัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับปี 2550 หรือ 2560
ปัจจุบัน “วรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีอายุ 70 ปีแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เขาจะเป็นผู้มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ข้อถกเถียงนั้นก็คือ “วรวิทย์” ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะประกาศใช้ ซึ่งรัฐจำนวนปี 2550 ไม่มีข้อกำหนดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอายุเกิน 70 ปีไม่ได้ ดังนั้น ปัญหาจึงเป็นการตีความว่า ควรจะยึดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใด
ล่าสุดที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย และสุดท้าย เห็นควรให้ส่งประธานกรรมการสรรหา ชี้ขาดต่อไป
นี่ขนาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังงงกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 922 วันนี้ (17 มี.ค.) คงต้องยกให้กระทรวงพลังงานเป้นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในเวลาเดียวกันเลยล่ะขอรับท่านผู้อ่านทุกท่าน เรียกว่าไหนๆ จะสร้างสรรค์ผลงานออกทั้งทีแล้วก็ต้องเอาให้ครบทั้ง 2 รูปแบบ เริ่มกันที่ข่าวดีๆก่อนก็แล้วกัน เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือพี่ยักษ์อย่าง ปตท. ประกาศขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีกเอ็นจีวี สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เคยได้รับสิทธิ์ผ่านมาตรการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 15 มิ.ย. 65 จากเดิมที่สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา
เรื่องที่ 923 ถึงประเด็นข่าวร้าย!! ไม่อยากจะพิมแต่ก็ต้องรายงานให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ซึ่ง “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า การดำเนินการที่เสมือนกรีดหัวใจประชาชนครั้งนี้ มาจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และฟาดชิ่งมาค่าเอฟทีของไทยนั่นเองครับผม ผู้ใช้อย่างเราๆ ก็คงได้แต่ทำใจ และยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น
โดยนพวัชร์