ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 13-14 ม.ค.2565
“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐ ซวยก็เป็นได้ เพราะไม่ทราบว่าด้วยพลัง หรือความห้าวหาญอะไรก็แล้วแต่ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขต 6 สงขลา โดยการเชิญชวนให้ชาวใต้ เลือกผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ที่รวย ฐานะดี มีชาติตระกูล และพร้อมที่จะควักเมื่อเห็นประชาชนเดือดร้อน”
เรื่องที่ 698 ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “เราต้องเลือก ส.ส.ที่มีความพร้อม ชาติตระกูลดี มีตังค์ ไม่ใช่คนที่ไม่มีตังค์แล้วเดินไปหาพี่น้อง พี่น้องเอาไหมครับ”
คำพูดดังกล่าว ส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ยื่นร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) สงขลา ว่าเข้าข่ายการหาเสียงสัญญาว่าจะให้หรือไม่ ถือว่าผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่ โดยเรื่องนี้ ต้องรอ กกต.ตรวจสอบ
แต่ไม่ทันไร พรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งคนสำคัญ ถือโอกาสนี้กระทืบซ้ำ โดยหัวหน้า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ปราศรัยว่า “ผมถามว่า เราไม่ต้องเอาความสามารถมาแข่งกันแล้ว ประชาธิปไตยไม่ได้แข่งกันแบบนั้นถ้าแข่งแบบนั้นเอาเงินมากองกันแล้ว มาดูใครรวยกว่าได้เป็นผู้แทน ทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่น อย่าให้เงินมามีอำนาจเหนือความดี นี่คือระบบประชาธิปไตย”
เรื่องที่ 699 แวบแรกที่เห็น บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ (OR) และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันขึ้นอีก 30-50 สตางค์ต่อลิตรพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) ใบหน้าของ “รองพงษ์” สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ก็ลอยขึ้นมาต่อหน้าผมทันที แต่พออ่านเนื้อหาอย่างละเอียด บก.ชวนคุย ก็แอบโล่งใจแทนท่านไปด้วย เพราะที่ประ กาศปรับขึ้นราคาเป็นน้ำมันชนิดเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตร ส่วนชนิด E85 ขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร น้ำมันดีเซลยังคงราคาไว้ไม่ให้ราคาเกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายราคาที่กลุ่มรถบรรทุกเรียกร้อง ท่านรองก็คงต้องนั่งลุ้นต่อไปทั้งราคาน้ำมันโลก และกลุ่มรถบรรทุกที่ไม่รู้ว่าจะลุกฮือขึ้นมาเมื่อไหร่ ในเมื่อยังไม่ได้ตามที่ต้องการ เอาเป็นว่าสู้ๆนะขอรับท่านรอง
เรื่องที่ 700 ฝั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมก็กำลังสำแดงผลงานถี่ยิบในช่วงนี้ ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” โชว์ศักยภาพดึงความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI (เมติ) ประเทศญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ จากนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) ควบคู่กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)พร้อมอวดผลงานการลงทุนจากญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมามูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท ไหนๆ ก็มาแล้วก็มาบ่อยๆนะขอรับเจ้านาย อย่ามาแล้วหายเข้ากลีบเมฆไปอีก ประชาชนเค้าคิดถึง
ตัวเลขสวยเรื่องที่ 701 ลงที่กระทรวงการคลังพอดีเลยครับ เพราะประเด็นร้อนๆ ของกระทรวงการคลัง ในขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่องภาษี ภาษีรายการคือ 1.การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยภาคเอกชนผ่าน กกร.ต้องการให้คลังลดภาษีลง 90% หรือจัดเก็บภาษีเพียง 10% ของจำนวนเงินภาษีที่จ่าย เหมือน กับปีที่แล้ว แต่ในช่วงนั้น เศรษฐกิจขาลง รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ มีเคอร์ฟิว จีดีพีปีที่แล้ว โต 1% จากปี63 ติดลบ 6.1% แต่คราวนี้ สถานการณ์ดีขึ้น จีดีพีปีนี้ คาดว่า โต 3-4% ทำให้น้ำหนักของข้อเรียกร้อง กกร.ในครั้งนี้ ฟังดูแล้ว เบาๆๆ ยังไงบอกไม่ถูก
2.การจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขอย้ำอีกครั้ง กรมสรรพากร โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง และ “เอก-เอกนิติ ทัณฑ์ประภาศ” ประกาศตั้งนานแล้วว่า จะจัดเก็บภาษีรายการนี้อย่างแน่นอน เพราะหากมองย้อนหลังกลับไป กระทรวงการคลังไม่ใช่ ไม่เคยเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน แต่เพิ่งมาถูกยกเลิก เมื่อตอนที่กรมสรรพากรเปลี่ยนระบบจากภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตั้งแต่ปี 2535 หรือเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา
โดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บคาดว่า จะอยู่ที่ 0.1% ส่วนวิธีการจัดเก็บขณะนี้ ศึกษาไว้ 3 รูปแบบประกอบด้วย 1 Financial Transaction tax หรือภาษีขายหุ้น 2.Capital gains tax หรือ กำไรจากการขายหลักทรัพย์ และ3.อาการสแตมป์
และ 3.ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ มูลเหตุของการเก็บภาษีก็เพื่อความยุติธรรม ยุติธรรมโดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ คำถามแรก ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อแฟ้บ สบู่ ยาสีฟัน เสียภาษีหรือไม่ แล้วทำไม คนรวยๆ ที่มีเงินเยอะๆ ลงทุนในตลาดหุ้น หรือคริปเคอร์เรนซี แล้วไม่เสียภาษี ถ้า รมว.คลัง ตอบไม่ได้ เห็นที่ งานนี้ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ต้องตอบคำถามเอง ในฐานะสั่งการให้กรมสรรพากรทบทวนเรื่องดังกล่าว ในช่วงที่มีวิกฤติเงินงบประมาณเช่นนี้
โดย นพวัชร์