ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 21-22 ธ.ค. 2564
“ไม่เอาการเมืองแล้วครับ หยุดแค่นี้ก็พอแล้วครับ ถ้าคนไม่เลือกจะอยู่ต่อได้ไง กลับไปเลี้ยงลูกดีกว่า พอแล้วครับ ผมก็จะ 55 (หัวเราะ) แล้ว และเราไม่ได้มีความมุ่งหมายไปสู่การเมืองใหญ่ เพราะมันเหนือความสามารถของเรา!! นั่นเป็นคำพูดของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามสื่อมวลชน หากไม่ได้รับการเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.วางอนาคตตัวเองไว้อย่างไร โดยชัชชาติ พูดอย่างชัดเจนว่า หากไม่ได้เป็นผู้ว่าฯเมืองหลวงคราวนี้ เห็นทีจะต้องวางมือทางการเมือง กลับบ้านเลี้ยงลูก
เรื่องที่ 627 ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ สำหรับ “ชัชชาติ” แล้ว จึงจะเป็นการเดิมพันสูง ชี้ชะตาอนาคตทางการ เมืองของเขาเอง ว่าจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ “ชัชชาติ” ในวัย 55 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 9 ปีก่อน ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จัก และเป็นผู้ที่พรรคเพื่อไทย เลือกให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในปี 2562 ถามว่า เหตุใดเขาจึงไม่กลับไปพรรคเพื่อไทย ถ้าหากชวดผู้ว่าฯ กทม.เพราะโอกาสในพรรคเพื่อไทยสำหรับเขานั้น ถือว่าเปิดกว้าง “ชัชชาติ” กล่าวว่า “ไม่คิดหรอกครับ อิสระก็อิสระ กลับไปกลับมา คนก็ไม่ไว้ใจเรา ถ้าได้ก็จะทำให้ดีที่สุด ถ้าไม่ได้ก็จะกลับไปดูลูกทำธุรกิจ เกษตรไม่แน่”
เรื่องที่ 628 นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลง (Disruption) ทางธุรกิจให้ต้องขยับตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว เจ้าโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งชั้นดีให้ธุรกิจต้องเฟ้นหาช่องทางการทำธุรกิจใหม่ที่ฉีกออกไปจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคสร้างรายได้ ล่าสุดองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ขยับตัวอีกแห่งคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยหัวเรือใหญ่อย่าง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีบล็อกเชนและแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน รองรับการเข้าสู่ยุคกระจายศูนย์ของธุรกิจพลังงาน พร้อมสร้างระบบนิเวศของธุรกิจพลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจร ยักษ์ใหญ่ยังขยับแล้วยักษ์เล็กล่ะอย่ามัวแต่คิดจะช้าจนไม่ทันการณ์
เรื่อง 629 เพิ่งมีข่าวปิด “มหากาพย์” การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณกันไปนานสำหรับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) วันนี้ (21ธ.ค.)ทางเชฟรอนได้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในการส่งมอบแหล่งเอราวัณให้กับ ปตท.สผ. เข้าไปดำเนินการต่อ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.64 เรียกว่า บทเร็วก็เร็วอย่างเหลือเชื่อ ต่างกับช่วงยื้อยุดฉุดกระชากกันที่กินเวลาไปมากกว่า 2 ปี
เรื่องที่ 630 ส่วนนี่ก็คิดเร็วทำเร็วสำหรับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (อินโนบิก) บริษัทย่อยของ ปตท. ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ Life Science (ชีววิทยาศาสตร์) ล่าสุดร่วมมือกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภาย ใต้ชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย : Plant & Bean (Thailand) ผลิตสินค้าโปรตีนจากพืชให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหาร โดยนำเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชชั้นสูงจากอังกฤษมาตั้งไว้ที่ไทยเลย ต้องบอกว่าเจาะธุรกิจได้ทันสมัยจริงๆ เพราะเวลานี้ใครๆเค้าก็หันมารักสุขภาพกันหมดแล้ว
เรื่องที่ 631 เรื่องของขวัญปีใหม่ เข้า ครม.วันนี้ (21 ธ.ค.) เยอะจนล้น ล้นทะลักและล้นอีก นับเล่น น่าจะมีเกิน 100 มาตรา การ นับเป็นปีแห่งความสุขของ “บิ๊กตู่” จริงๆ เพราะทุกมาตราการที่ออกมาล้วนแต่เบาหวิว มีน้ำหนักทางเศรษฐกิจเพียง 0.7% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ รัฐบาลต้องใส่เงิน หรือสูญเสียได้ จากมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ไปถึง 42,000 ล้านบาท ฟันดูแลไม่น่าแปลกใจ เพราะ “อาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์” รมว.คลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ในปีหน้า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทำให้ความจำเป็นการให้ในฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงมีความแตกต่างกัน เริ่มจากปีที่แล้ว และปีนี้ คือ บรรเทาทุกข์และเยี่ยวยา
ขณะที่ปีหน้าคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะมีไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ ชื่อ “โอไมครอน” เข้ามาถึงเมืองไทยแล้วก็ตาม แต่คลังยังมีความมั่นใจว่า การแพร่ระบาดไม่รุนแรง และรัฐบาลโดย สธ.สามารถควบคุมได้ จีดีพีที่ถูกปั่นขึ้นไปจึงมีน้ำหนักเพียง 0.7% ไม่ได้แรงอย่างที่คิด ถือว่างานนี้ไม่มีหมัดน็อก ได้แค่ออกหมัดแย็บแล้วถอยฉาก อย่างนี้เรียกว่า “มวยเชิง” หรือ “มวยหลบ” ต้องติดตามกันต่อไปว่า ขึ้นปีใหม่2565 แล้ว เศรษฐกิจไทยจะพุ่งทะยานจากปีนี้ ขยายตัว 1% ขึ้นเป็น 4% ได้ตามความหวังใจที่ตั้งใจหรือไม่
เรื่องที่ 631 ส่วนประเด็นเก็บภาษีหุ้น 0.1% ที่เป็นกระแสข่าวใหญ่โตในเวลานี้ ในที่สุด “อาคม” ก็เฉลย เพราะตนเป็นสั่งให้กรมสรรพากรศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีใหม่ เพื่อนำรายได้มาเพิ่มงบประมาณให้แก่รัฐ ซึ่งปัจจุบันในต่างประ เทศ มีการจัดเก็บภาษีจากตลาดทุน 3 รูปแบบ คือ 1. Financial Transaction Tax หรือเก็บภาษีจากการซื้อหรือขายหุ้นทุกรายการ 2.Capital gains tax หรือเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ และ3.อาการสแตมป์ หากผลการศึกษาออกมาสำเร็จกระทรวงการคลังจะเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนจะนำมาใช้เมื่อไหร่ ตอนนี้ ขออุบไต๋เอาไว้ก่อน
สำหรับเก็บภาษีซื้อขายหุ้น Financial Transaction Tax ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2535 หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนระบบการเก็บภาษี จากภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อขาย หรือซื้อหุ้น แล้ว ไม่ต้องเสียภาษีทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในระบบภาษีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เสียภาษีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เช่น บ้านและรถยนต์ ทั้งที่ตลาดทุนเป็นกลุ่มผู้ที่มีขีดความสามารถในการออม หรือจัดอยู่เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ก็ควรเสียภาษีเหมือนกัน.
โดยนพวัชร์