ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 4-5 ต.ค.2564

“การเมืองเดือนต.ค. เริ่มต้นเดือนก็มีความเข้มข้น จากการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยที่ปีนี้ ครบรอบ 45 ปี คนเดือนตุลา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ คาดหวังรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กระนั้น ต้องจับตาดูว่าทางธรรมศาสตร์ จะยอมให้จัด หรือไม่ เพราะยังติดเงื่อนไขตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามการรวมตัวชุมนุม”
เรื่องที่ 313 สัปดาห์ถัดไปจะมีการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คาดว่า จะมีความคึกคักไม่แพ้การรำลึก 6 ตุลา แต่อย่างใด แต่จะว่าไปแล้ว การที่รัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนต.ค.นี้ อาจมองว่า เดือนนี้ การเมืองร้อนแรงสุดๆ ก็เป็น ได้ เพราะก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเนื้อหาสาระสามารถใช้ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ และถูกคาดว่า จะประกาศใช้ตั้งแต่สิ้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา จึงมองเห็นว่า ไม่แน่ หลังการรำลึก 14 ตุลาคม 2516 สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป รัฐบาลอาจประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นได้

เรื่องที่ 314 ขายดิบ ขายดี เป็นเทน้ำ เทท่า “หุ้นกู้กรีนบอนด์” หรือ “หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหน นำออกมาขาย มักจะหมดเกลี้ยงทุกรายไป ล่าสุด บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ในการขายหุ้นกู้กรีนบอนด์เป็นครั้งแรกในวงเงิน 1,500 ล้านบาท ปรากฎว่าผู้ลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ แห่จองจนยอดเกินกว่า 3 เท่า
“วันดี-กุญชรยาคง จุลเจริญ” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “SPCG” เป็นปลื้ม ไม่คิดว่า จะนักลงทุนจะแห่จองจนยอดขายทะลุเป้าขนาดนี้ เพราะวงเงินขายหุ้นกู้กรีนบอนด์ 1,500 ล้านบาท แค่ทดลองตลาด เท่านั้น เชื่อว่าน่าจะมีรุ่น 2 รุ่น 3 ทยอยออกมาเรื่อยๆ
ส่วนเงินที่ได้จาการขายหุ้นกู้ “วันดี” ตั้งใจจะนำไป ใช้ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นและอีกส่วนหนึ่งก็นำไปขยายธุรกิจของบริษัทต่อไปในอนาคต และยอมรับว่างานก่อสร้าง โครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ที่ญี่ปุ่น ล่าช้าออกไปจากแผนงานเดิม เพราะญี่ปุ่นได้ประสบกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก และถึงแม้โครงการจะล่าช้าไป แต่ “วันดี” ขอให้ผู้ถือหุ้นสบายใจได้ ว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนในปี 66 อย่างแน่นอน ก่อนจบ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า “วันดี-กุญชรยาคง จุลเจริญ” ก็คือ ภรรยาท่านปลัด “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

เรื่องที่ 315 รอคอยอยู่นาน แสนนาน ต้องงานนี้ ค่อยกันจนง่วงนอน อยากด่าคนจัดงาน “แถลงข่าว” ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กระทรวงพลังงานที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานนัดแถลงสื่อผ่านระบบ ZOOM 10.30 น. เอาเข้าจริง ฝ่ายประชาสัมพันธ์แจ้งบอก ยังประชุมไม่เสร็จครับพี่น้อง สื่อก็ได้แต่ ร้องเพลงรอไปก่อนเพลินๆ ใกล้เที่ยงแล้วก็ยังไม่มีวี่แววจะเสร็จ พ่อเจ้าประคุณทูนหัว เล่นเอาแบตโทรศัพท์เกือบหมด เพราะว่าจะได้แถลงจริงก็ปานเข้าไป 11.55 น. รอคอยกันยาวนานจริงๆ สรุปว่า
กระทรวงพลังงานจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ล้านบาท เข้าไปผยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรปรับลดสัดส่วนผสมดีเซลจาก B10 และ B7 เป็น B6 ในช่วงวันที่ 11-31 ต.ค.นี้ พร้อมลดการจัดเก็บเงินจาก B7 เข้ากองทุนฯ จาก 1 บาท เหลือ 1 สตางค์ ส่วนก๊าซหุ้งต้ม หรือ LPG จะตรึงราคาถึงเดือนม.ค.65
ส่วนคำถามที่ชวนสงสัย คือ ยังนั่งในตำแหน่งต่อหรือไม่ สำหรับ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ ควบรมว.พลังงานได้คำตอบชัดว่า “ยังนั่งต่อไม่ไปไหน” เมื่อรับมอบหน้าให้ทำหน้าที่ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป แต่เมื่อไหร่ไม่ได้รับมอบหมายคงต้องไปใช่มั้ยครับ “ท่านรองนายกรัฐมนตรี”

เรื่องที่ 316 ช่วงหลัง วันที่ 1 ต.ค.มานี้ ดูเหมือน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง จะสุขกาย…สบายใจ ออกเดินสาย เยี่ยมเยือนลูกค้าเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ ทิ้งกระทรวงต้นสังกัดไม่ต้องห่วงจะฟัดกับนักข่าว ปล่อยให้ข้าราชการประจำ “เก่า-ใหม่” ภายใต้การคัดท้ายกของ “พี่ตู่-กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดคลังดูแลไปตามน้ำ โดยเฉพาะ เมื่อได้คนชื่อ “อุ๋ย-กุลยา ตันติเตมิท” มานั่งบัญชาการในฐานะ อธิบดีกรมบัญชีกลางคอยกำกับดูแลงบประมาณรายจ่ายภาครัฐของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่เร่งรัดการเบิกจ่าย ไปจนสถึงสกัด “ปมฮั้ว” ของขาใหญ่สายการเมือง กับการใช้งบประมาณแผ่นดิน แบบผิดประเภท ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งรัฐ แม้สิ่งนี้ทำให้ “เจ้ากระทรวง” สบายใจ แต่เคยถามใจข้าราชการประจำกันบ้างแล้วหรือไม่ ว่าสุขใจแค่ไหน เมื่อต้องออกรบตบมือกับพวกเขี้ยวลากดิน “ขาใหญ่ประจำถิ่น” ทั่วไทย
ไหนๆ รมว.คลังเมืองไทย เล่นบทตามน้ำ รอความนิ่งของฝ่ายการเมืองแล้ว ก็น่าวางกรอบ ในแบบ “โฟกัส” ช่วงต้นของงบ ประมาณปี2565 แบบเนื้อๆ เน้นๆ กับการแก้ไข 2 ปัญหาใหญ่ ที่พุ่งเข้าใส่ชีวิตคนไทยยามนี้ เพราะทั้งปมโควิดฯ ที่แม้จะเริ่มเห็นภาวะการติดเชื้อลดลง แต่ยอดตายรายวัน ยัง น่าอดสู มีให้เห็นกันทุกวัน ยิ่งมาเจอกับปัญหามวลน้ำทะลักล้น จนเรือกสวนไร่นาบ้านเรือนตึกรามเล็กใหญ่ กลายเป็นทะเลสาบกลางเมือง ก็น่าจะกระตุ้นเตือนคนเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้โปรดพลิกวิกฤตเป็นโอกาส งัดเอางบกลางที่มี 570,000 ล้านบาท มาใช้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ลำพังการบนบานศาลกล่าวหรือสวดมนต์ช่วยไล่น้ำ คงช่วยอะไรไม่ได้หรอกครับ

เรื่องที่ 317 พาดพิงไปวันก่อน วันนี้ “โป๊ะ-พรชัย ฐีระเวช” ผอ.สศค. ยังคงทำหน้าที่แข็งขันกับภารกิจที่คุ้นเคย! ล่าสุด มอบหมายให้ “มือทำงาน -คนสนิท” อย่าง “หนึ่ง-สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ” รอง ผอ.สศค.ในฐานะ “รองโฆษก สศค.” ออกมาให้ข่าว ปมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ งานถนัดที่ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนไขพิเศษ กับการกลับมารับงานในองค์กรแห่งนี้ เรื่องดึงเอากลุ่มสินเชื่อพิโก้มา “ร่วมด้วยช่วยกัน” แก้ปัญหาหนี้ในระบบให้กับลูกหนี้เกือบหมื่นราย เพราะพิษโควิดฯ ก็ถือเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแล้ว
แต่ที่แซ่ป!! คือ ดึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานในสังกัดมาร่วมขจัดแก๊งเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ เพราะพวกนี้คือ “ปลิงทางการเงิน” ที่คอยกัดกินและดูดเลือดจากคนจน ได้อย่างน่าขยะแขยงยิ่งนัก! ล่าสุดข้อมูลของ สศค.ภาย ใต้การนำของ “โป๊ะ” พบว่า เฉพาะเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจสามารถไล่ล่าบรรดาเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบมาได้มากกว่า 200 ราย จนยอดจับกุมสะสมของ “คนทำนาบนหลังคน” นับตั้งแต่ปี 2559–2564 พุ่งเฉียดหมื่นคนไปแล้ว ส่วนใครที่สงสัยจับมากเกือบหมื่นคน แล้วเหตุใด “เจ้าหนี้นอกระบบ” จึงยังไม่หมดไปจากเมืองไทย ยังไม่มีคำตอบจาก สศค.ครับผม

เรื่องสุดท้าย วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมา ไปเที่ยว “เกาะสมุย” สุราษฎร์ธานี มีโอกาสพบคนดังในอดีต “ท่านสมชัย-สมชาย พูลสวัสดิ์” เกษียณในตำแหน่งสุดท้ายอธิบดีกรมสรรพสามิตมาแล้ว 5 ปี พ้นจากข้าราชการกรมศุลกากรนานถึง 9-10 ปี แต่ยังคงเป็นศิษย์เก่านักเรียนศุลการักษ์ตลอดชีวิต ในฐานะรุ่นพี่ (รุ่น 18) พูดให้น่าคิดเอาไว้หลายเรื่องทั้งในฐานะรุ่นพี่ “คิดดีต่อรุ่นน้อง” และอดีตเจ้านายที่ต้องการให้ “ลูกน้องได้ดิบได้ดี”
ตั้งคำถามยาวเหยียด ให้คิดสงสัยหลายชั่วโมงกับประเด็นยิ่งเข้าเป้าคือ ข้าราชการสรรพสามิตมักมองเห็นผู้เสียภาษี “จากหมูเป็นช้าง” ขณะที่ ศุลกากรมองผู้เสียภาษี “จากช้างเป็นหมู” ขึ้นต้นและลงท้ายไม่เหมือนกัน เขียนสลับหน้าสลับหลัง ฟังแล้วก็ขำดี เหมือนคนแก่บ่นไปเรื่อยๆ แต่เมื่อฟังคำเฉลยแล้ว “เข้าใจคนรุ่นเก๋าได้เลย”
“คนที่มองหมูเป็นช้าง” เพราะกรมสรรพสามิตมีผู้ประกอบการไม่กี่ราย อัตราภาษีไม่ยุ่งยากซับซ้อนเช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล้า-เบียร์ และรถยนต์ เป็นต้น ความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่มีต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิต จึงมีมากแต่ละรายตัวใหญ่ตัวเท่า “ช้าง” ทั้งๆ ที่ความจริงมีไม่กี่รายก็เหมือน “หมูที่อยู่ในเล้า”
แต่อีกกรมหนึ่ง (ศุลกากร) ผู้ประกอบการตัวใหญ่แค่ไหนข้าก็ไม่สน มองเห็นช้างตัวเท่าหมู เพราะมีความหวังเรื่องสินบนนำจับ ยิ่งหนีภาษีมากเงินเท่าไหร่ เงินรางวัลนำจับก็ยิ่งมาก ข้าราชการกรมศุลฯ จึงมองเห็นผู้นำเข้าทุกเป็น “หมู” คือ จับเอาไว้ก่อน ผิดหรือไม่ผิด ค่อยว่ากันทีหลัง
ทั้ง 2 กรมภาษีจึงมีความกล้าและความเหมือนที่แตกต่างกัน “คนนอก” มองว่า บริหารงานคล้ายกันก็จริง แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว ความแตกต่างมีเยอะมาก เจียระไนไป 3 วัน 2 คืนก็ไม่จบ แค่คำพูดสั้นๆ “มองหมูเป็นช้าง-มองช้างเป็นหมู” ข้าราชการธรรมดาชั้นผู้น้อยคงไม่ค่อยเข้าใจ แต่หากระดับสูงเป็นถึงอธิบดี 2 กรม อย่าง “หม่อง-พชร อนันตศิลป์” คงจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีที่สุด
โดย นพวัชร์