ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 22-23 ก.ย.2564
“เก็บตกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติด ต่อ พ.ศ.2558 เนื้อสาระเพื่อกำหนดให้ยกเว้นความรับผิดแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มี.ค. 2563 ร่างกฎ หมายฉบับนี้ ยังจะใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลใช้ควบคุมโรคมาตั้งแต่เดือนมี.ค.2563”
เรื่องที่ 268 อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงาน ครม.ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และขณะเดียวกัน ก็ต้องเสนอต่อสภาเพื่อให้สภาเห็นชอบ แต่คงต้องเสนอเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาแล้วในเดือน พ.ย. เนื่องจากไม่อยากขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ
“อาจารย์วิษณุ” ยังระบุด้วยว่า ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมา และยังไม่สามารถยืนยันว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อไร จะต้องหารือกับนายกฯ อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว จะส่งผลให้ไม่ต้องขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังนั้น จึงต้องจับตาดูการเมืองนับจากนี้ ไม่แน่ว่า เมื่อสถานการณ์ในรัฐบาลย่ำแย่อย่างหนัก ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาก็เป็นได้
เรื่อง269 ปกติ! ก็ได้ฉายาจากนักข่าวสายคลังว่า เป็น “อาคม อมพนำ” เพราะส่วนใหญ่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ไม่ค่อยจะให้สัมภาษณ์นักข่าวแบบยืดยาวมากนัก ยิ่งช่วงหลังๆ ตั้งแต่มีโควิดระบาด แทบไม่ได้เจอหน้ากัน หรือเจอกันก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ ถึงจะยอมพูดคุยและให้สัมภาษณ์ข่าว ก็ใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานฯ อนุมัติขยายเพดานเงินกู้ภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จากเดิมไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี แล้วโดนรุมอัดจากทุกฝ่าย เป็น “อาคม” ที่ยอมเดินมาให้สัมภาษณ์และอยู่พูดคุยกับนักข่าวแบบนานผิดปกติ แถมยังกำชับให้ช่วยกันเขียนข่าวออกมาดีๆ ด้วยเกรงสังคมไทยจะเข้าใจอะไรผิดๆ
สำหรับการขยายเพดานเงินกู้รอบใหม่ที่เพิ่มอีก 10% นี้ “อาคม” ยอมรับว่า จะทำให้รัฐบาลมีเพดานเงินกู้ได้เพิ่มมากขึ้นถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะเดินหน้ากู้เงินจนเต็มเพดานหนี้สาธารณะ เพราะการจะกู้เงินเพิ่มจากเดิมที่ตีกรอบเอาไว้ 500,000 ล้านบาทในปีงบ 2565 นั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็น เพราะหากเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวช้า หรือปัญหาโควิดฯไม่ยืดเยื้อมากไปกว่านี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด ส่วนหนี้สินภาครัฐในปัจจุบัน พบว่ามีสูงถึง 8.9 ล้านล้านบาท แต่ รมว.คลัง ย้ำว่า การก่อหนี้ของรัฐบาลช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ใช่การกู้เพื่อการบริโภค จึงไม่น่าเป็นกังวลใจมากนัก แต่ดูทรงแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจในวันข้างหน้า เชื่อว่า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มอย่างแน่นอน ฟันธง!
เรื่องที่ 270 นี่ก็เหมือนกัน ไม่รู้โดนใครกดดันมา จะเป็น “หน่วยเหนือ” หรือ “กลุ่มบริษัทประกันภัย” หรือ “สเต็กโฮลเดอร์” ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย จนทำให้ คปภ. ยุคของ “สุทธิพล ทวีชัยการ” ต้องออกมาเล่นกับข่าวมากจนผิดปกติ! เรียกว่าแทบจะมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “ประกันภัยโควิดฯ” ให้ได้เห็น แบบวันเว้นวัน! ล่าสุด ก็เพิ่งออกมาให้ข่าวติดต่อกัน 2 วัน และไม่พ้นเรื่องประกันภัยโควิดฯ รอบนี้ ออกมายอมรับ! บริษัทประกันภัยขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด รวมกันเกือบ 40 ล้านฉบับ และมีเบี้ยประกันภัยรับสะสมกว่า 11,000 ล้านบาท จ่ายเงินเคลมไปแล้วกว่า 9,400 ล้านบาท ตรงนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากพิษโควิดได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน แอบส่งสายสืบลงหาข้อมูลทางลึก พ่วงพูดคุยกับฝ่ายบริหารของบริษัทประกันตามปกติ เพื่อเช็คสถานภาพของบริษัทประกันภัย ที่อยู่ในข่าย “สูญสภาพคล่อง” ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า มีหลายบริษัทที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะต้องจ่ายเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนในการเคลมประกันภัยโควิด ให้กับผู้เอาประกันภัยฯ แต่ยังไม่พบว่าจะมีบริษัทใดถังแตก! ถึงขั้นกลายเป็นความเสี่ยงในเชิงระบบ ส่วนหนึ่งเพราะ คปภ.เข้มงวดในการกำกับดูแลฐานะทางการเงินและการดำเนินการของบริษัท ทั้งการกำกับดูแลนอกที่ทำการบริษัทและการเข้าตรวจสอบที่ทำการบริษัท ควบคู่กับการออกออกมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ฟังแล้ว น่าชื่นใจบ้างไหม?
เรื่องที่ 271 ราคาพลังงาน กำลังจะแพงขึ้น เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อันเนื่องมาจากหลายประ เทศปูพรมฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีหลายประเทศได้เลิกใส่แมสก์กันบ้างแล้ว ที่เห็นๆก็มี สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ สเปน อิตาลี เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามมา ส่งสัญญาณถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว เพิ่มไม่เพิ่มดูจากราคาน้ำมันในบ้านเราปรับราคาขึ้นมาหลายสัปดาห์ต่อเนื่องกัน จนราคาน้ำมัน ดีเซล B7 ปาเข้าไป ลิตรละ 29.89 บาท ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 ก็อยู่ที่ ลิตรละ 29.78 บาท ใกล้จะแตะ 30 บาทอยู่แล้ว ..
ขนาด “สมภพ พัฒนอริยางกูล” โฆษกกระทรวงพลังงาน ยังออกมายอมรับ ว่า ราคาพลังงานขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น และมีความผันผวนจนต้องเฝ้าระวัง ยังดีที่บ้านเรามีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาจเห็นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรเสียก็ขอให้ช่วยกันใช้น้ำมันดีเซลB10กันให้เยอะๆ เพราะนอกจากจะช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ราคายังถูกกว่าน้ำมันดีเซล B7 ถึงลิตรละ 3 บาทอีกด้วย..
เรื่องที่ 272 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม เชียงใหม่ ดูเหมือนจะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นๆ เห็นแล้วก็พลอยให้ชื่นใจ ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมพัฒนา ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ กฟผ.เจ้าของโครงการ ได้จับมือกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม ให้เป็นต้นแบบเชิงธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนลดการทำการ เกษตรพืชเชิงเดี่ยว แล้วหันมาปลูกพืชพลังงาน ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้ง 3 หน่วยงานคาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี พัฒนาให้สำเร็จ..
บันทึกข้อตกลง ยังได้ระบุว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแม่แจ่ม เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมของประเทศในอนาคต ชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่พร้อมผลักดันและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ให้ดีขึ้น หากเป็นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแต่นั่นคืออนาคต วันนี้ บอกตรงๆ สภาพ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มันเหี่ยวเฉาใกล้ตายลงทุกวันแล้ว
โดย นพวัชร์