ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 19-20 ก.ย.2564
“ในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา ข่าวเด่น ข่าวดัง ได้เขียนเรื่องการออมและการลงทุน เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่กับสำนักงานข่าว AEC10NEWS ไปแล้ว เป็นสัปดาห์แรก และในสัปดาห์ต่อๆ ไป จะมีการนำเสนอเรื่องราวแบบนี้ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ครบทุกด้าน โดยเฉพาะการก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตที่ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”
เรื่องมี่ 251 ครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่นำโดย บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ขณะนั้น นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ “นายทักษิณ ชินวัตร” รัฐบาลซึ่งได้คะแนนเสียงท้วมท้น 376 เสียง มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
15 ปี ที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อนาล็อก เกิดนวัตกรรมขึ้นมามากมาย แต่กลับตรงข้ามกับพัฒนาการการเมืองไทย ที่นอกจากจะไม่ก้าวหน้าแล้ว ยังถอยหลังลงอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใดด้วย
รัฐประหารปี 2549 ได้ชื่อว่าเป็นการรัฐประหารที่ “เสียของ” เพราะไม่ว่าจะได้พลังอำนาจทางทหารหรือกฎหมายจัดการกับขั้วของ “ทักษิณ ชินวัตร” อย่างไร พวกเขาก็กลับมาได้ทุกครั้ง ตั้งแต่ “พรรคพลังประชาชน” ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 หลังยุบพรรคไทยรักไทยและชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2554 ต่อมาเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ซึ่งถูกมองว่าเป็นผลพวงของรัฐประหารปี 2549 เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของคณะรับประหารในอดีต
โดยครั้งนี้ นอกจากผู้นำก่อการจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเองแล้ว ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ซ้ำยังออกกำหนดกฎเกณฑ์เอื้อแก่ฝ่ายของตน กระนั้น ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทย ยังสามารถกวาด ส.ส.ได้มากที่สุด
เหล่านี้บอกกับเราว่า การรัฐประหารไม่สามารถครองใจประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารปี 2549 ก็ดี รัฐประหาร 2557 ก็ดี ล้วนเป็นรัฐประหารที่เสียของ
เรื่องที่ 252 ใกล้เข้าสู่ห้วงเวลาที่รัฐบาลจะแจกเงินเยียวยารอบใหม่ให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดฯระบาดแล้ว หลังว่างเว้นมายาวนานตามกรอบเวลาที่มี นั่นเพราะเม็ดเงินที่ได้ ทั้งจากเงินเยียวยา แบบให้เปล่า กับกลุ่มคนใน ม.33, 39, 40 ซีกของประกันสังคม และเงินเยียวยา แบบ “Co-pay” หรือคนละครึ่ง เฟส 3 ช่วงที่ 2 ต่างถูกใช้จ่ายหมดไปนานแล้ว ล่าสุด “โฆษกรัฐบาล” ธนกร วังบุญคงชนะ อาศัยช่วงวันหยุดสุดท้ายรอบสัปดาห์ ให้ข่าวอัพเดทกับการแจกเงินเยียวยารอบใหม่นี้
เริ่มกันที่ “ไทม์ไลน์” โอนเงินเยียวยา ม.33, 39, 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบ 2 ก่อน ธนกร หรือ “โฆษกแด๊ก” บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม หลังจาก ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา และสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดระยะเวลาในการทยอยโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนของผู้ประกันตน ดังนี้ 20-21 ก.ย. โอนเงินเยียวยา ม.40 ในพื้นที่ 16 จ.สีแดงเข้ม คนละ 5,000 บาท และ 21 ก.ย. โอนเงินเยียวยา ม.39 ในพื้นที่ 13 จ.สีแดงเข้มคนละ 5,000 บาท
ส่วน โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ช่วงที่ 2 นั้น ทางกระทรวงการคลัง ได้จัดเตรียมเงินไว้แล้ว และจะเริ่มจ่ายให้กับกลุ่มคนที่ร่วมโครงการฯคนละ 1,500 บาท เริ่มวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ นอกจากคนในโครงการคนละครึ่ง จะได้ใช้สิทธืจ่ายในการสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่าน Food Delivery Platform แล้ว “โฆษกแด๊ก” ยังย้ำด้วยว่า คนในโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็สามารถจะใช้สิทธิ์สั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านแอปฯของผู้บริการแพลต Food Delivery ได้ด้วย เอาเป็นว่า…ใครอยู่ในกลุ่มไหน? ต้องรีบเช็คและใช้สิทธิ์ให้เต็มที่กันไปเลย เพียงแต่ในช่วงใกล้สิ้นปี ที่รายจ่ายเยอะแยกมากมาย ก็อย่าผลีผลามเร่งใช่จ่ายโดยไม่บริหารวงเงินน้อยนิดที่รัฐเจียดมาให้ก็แล้วกัน
เรื่อง 253 ใครๆก็ห่วง..รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนหน้า 1 ตุลาคมนี้.. และเรื่องสำคัญที่กังวลมากเช่นกันก็ คือ มาตรการป้องกัน ดูแล ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลับมาระบาด ระลอกใหม่อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาก็มีบทเรียนให้เห็นซ้ำๆจนหวาดผวา..ยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SME ยิ่งผวาหนัก เพราะครั้งที่ผ่านมา พอจะมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงบ้าง ก็กลับระบาดหนัก เข่าทรุด ฉะนั้นหากเกิดระบาดระลอกที่ 5 SME ก็จะยิ่งวิกฤตกว่าเดิม..
เรื่องที่ 254 ปธ.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” บอกเห็นด้วยที่คลายล็อกดาวน์ แต่จะให้ดีต้องเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้ประชาชน และ คุมราคาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ไม่ให้สูงกว่า 100 บาทต่อชุด เพื่อให้ประชาชนหาซื้อได้ง่าย.. เพราะถ้าแพงไปกว่านั้นคงไม่มีตังค์ไปซื้อ เพราะ ข้าวจะกินแต่ละวัน ยังไม่ค่อยจะมีเลย
ส่วนสถานการณ์ SME ตอนนี้ก็ย้ำแย่ หลังได้รับผลกระทบโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ หลายรอบที่ผ่านมา ส่งผลให้ SME ยังคงประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้สิ้นที่มีได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็น หนี้ NPLs ในที่สุด เรื่องที่ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสนอ ทั้งเรื่องพักต้น พักดอกเบี้ย รวมทั้งลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะ SME ที่เปราะบาง ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐแต่อย่างใด… SME ก็คงได้แต่ภาวนาไม่ให้โควิดระลอกที่ 5 กลับมา..เพราะรู้ชะตาในอนาคต…
เรื่องที่ 255 สถานการณ์น้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าห่วง…”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ถึงกับลงพื้นที่ไปประชุมร่วมกับ กนอ.ด้วยตัวเอง ย้ำ ผู้ว่าฯ กนอ. “วีริศ อัมระปาล” ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงมรสุม ต้องประเมิน และหามาตรการรับมือ อย่าให้น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีก เพราะฝนถล่มเมื่อ 28-29 สิงหาคมที่ผ่านมา น้ำท่วมขังนิคมอุตสาหกรรมบางปู และ บริเวณใกล้เคียงถึง 3 วันกว่าจะลด ผลคือโรงงานเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ด้าน กนอ.ก็เร่งปรับแผนรับมือ ทั้งการตั้งกำแพงกั้นน้ำชั่วคราวในบางพื้นที่ ลอกคูคลองระบายน้ํา และยังทำหนังสือขอยืมเครื่องสูบน้ำ 31 ชุด จากกรมชลฯ เพื่อนำมาติดตั้งในนิคมฯ …ที่ประชุมทุกคนรับทราบ…จะมาบ่ายเบี่ยงไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้..เพราะเขาอัดเสียงไว้แล้วนะจ๊ะ..จะบอกให้…
โดย นพวัชร์