ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 14-15 ก.ย.2564
“ผลพวงจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้ส่งผลสะเทือนถึงรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เท่านั้น หากฝ่ายค้านยังได้รับผลกระทบนี้ด้วย โดยล่าสุดมติที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ให้ขับ 2 ส.ส.ออกจากพรรค คือ “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ส.ส.อุตรดิตถ์ และ “พรพิมล ธรรมสาร” ส.ส.ปทุมธานี ผลสืบเนื่อง หลังการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยทั้ง 2 คนโหวตสวนมติพรรคเพื่อไทย “ศรัณย์วุฒิ” โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ส่วนอีก 5 รัฐมนตรี “งดออกเสียง” ขณะที่ “พรพิมล” ไม่แสดงตนในการลงมติไม่ไว้วางใจ “อนุทิน ชาญวีรกูล” และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”
เรื่อง231 ล่าสุดมีข่าวว่าทั้ง 2 คน เตรียมตัวย้ายพรรคนับตั้งแต่สิ้นสุดการอภิปรายแล้ว โดย “ศรัณย์วุฒิ” อาจไปอยู่กับ “ลุงป้อง” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แห่งพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ “พรพิมล” อาจไปอยู่กับเสียงหนูแห่งพรรคภูมิใจไทย โดยทั้งคู่จะย้ายไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ลดเสียงของฝ่ายค้านไปถึง 2 เสียง
เรื่องทั้งหมด มองได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งใหม่ สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้วไม่ง่าย เพราะนอกจากการเมืองภายใต้พรรคเองที่ทำให้คนของพรรคต้องเลือกที่จะแยกทางออกไปสู่เส้นทางใหม่แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกอีกด้วย
อีกเรื่องของห้อยติ่งเอาไว้ก่อน ณ ทำเนียบรัฐบาล หลังจากเปิดให้สื่อมวลชนเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายเพียงไม่กี่วัน เป็นอันต้องปิดอีกครั้ง เมื่อตรวจพบว่า มีสื่อมวลชนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 14 ก.ย.สื่อมวลชนมากหน้าหลายตา มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เช้า เพื่อทำข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีวาระสำคัญหลากหลาย
ปรากฎว่า นั่งยังไม่ถึงค่อนวัน ได้รับคำร้องขอจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สื่อมวลชนกลับบ้านไปก่อน เพราะไม่ปลอดภัย หลังมีนักข่าวติดโควิด อารมณ์ประมาณว่า แต่งตัวไปโรงเรียน พอไปถึงโรงเรียนแล้วครูสั่งให้กลับบ้านยังไงยังงั้น โดยหลังจากนี้ อีก 14 วันค่อยพบกันใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาลนะจ๊ะ!!
เรื่องที่ 232 รัฐบาลเตรียมแจกชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดให้กับคนไทยทั่วประเทศ โดย สปสช.เตรียมเปิดให้ประชาชนที่คิดว่าตัวเองเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ได้ลงทะเบียนผ่าน “แอปฯเป๋าตัง” เพื่อขอรับฟรี! เริ่มวันที่ 16 ก.ย.นี้ ล็อตแรกกแจก่อนเลย 5.5 ล้านชุด ที่เหลืออีก 3 ล้านชุด จะทยอยตามกันมา หากผ่านเงื่อนไข สามารถเดินไปขอรับชุดตรวจ ATK ได้ที่หน่วยบริการทางการแพทย์ใกล้บ้าน ทั้ง 12 เขตทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็น รพ.ของรัฐ รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมถึงคลินิกที่ร่วมโครงการฯ ควบคู่กันไป รัฐบาลยังหนุนให้ภาคเอกชนได้จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบปลอดเชื้อโควิดฯ ล่าสุด ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาข้อเสนอของ กระทรวงการคลัง ไฟเขียวตามที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ขอให้ภาครัฐลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ซื้อชุดตรวจ ATK มาแจกจ่ายให้กับผู้บริหารและพนักงานของตน โดยนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ดีลูกคิดแล้ว แผนให้กรมสรรพากรยอมตัดทิ้งรายได้ภาษีส่วนน้อยในครั้งนี้ ย่อมดีกว่าจะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการต่อสู้กับโควิด-19 เป็นไหนๆ
เรื่องที่ 233 การส่งออกไทยที่พุ่งทะยานยามนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานจากสินค้าเกษตร แต่กลายเป็นว่า “ต้นทาง” คือ เกษตรกรไทย กลับต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ขณะที่ “นายทุน” ทั้งผู้ค้าในประเทศและผู้ส่งออก ต่าง “รวยเอาๆ” โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมี ที่วันนี้ ขอบอกตรงๆ แพงหูฉี่! ผลิตและขายได้เท่าไหร่ เกษตรกรต้องเอารายได้กว่าครึ่งไปจ่ายเป็นค่าปุ๋ย เบื้องลึก! ที่ปุ๋ยในไทยมีราคาแพง เพราะต้นทางวัตถุดิบจากจีน ถูกจำกัดการส่งออก แถมรายใหญ่อย่างอินเดีย ดันไปประมูลซื้อจากจีนล็อตใหญ่ๆ จนเหลือมาถึงไทย ทั้งน้อยและแพง แต่หากเกษตรกรไทยเปลี่ยนมุมมอง พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับทัศนคติใหม่ เปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่เพียงลดต้นทุนการผลิต แต่ยังช่วยชาติลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ที่สำคัญ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร
แนวทางยุคเจ้ากระทรวง “จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์” ขยายเวลาโครงการตรึงราคาค่าปุ๋ยเคมี ทั้ง 84 สูตร รวม 4.5 ล้านกระสอบ ให้กับเกษตรกรไทยไปจนถึงสิ้น ต.ค.นี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทว่าคู่ขนานกันไป ยังจับมือกับ กระทรวงเกษตรฯ สร้างแนวคิด “ต้นทุนต่ำ กำไรสูง” ด้วยการรณรงค์ให้เกษตรกร หันมาเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะรณรงค์ส่งเสริมเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ทั่วไทยให้ได้ถึง 1.3 ล้านไร่ ในปี2565 แม้ตัวเลขพื้นที่เกษตรอินทรีย์เมื่อปี2560 จะทำได้แค่เพียง 574,000 กว่าไร่ แต่เมื่อวิกฤตราคาปุ๋ยเคมีแพงลิบลิ่วอย่างนี้ เห็นทีเกษตรกรไทยต้องตัดใจลดและเลิกใช้ปุ๋ยเคมีนำเข้ากันเสียที แล้วหันมาเน้นเกษตรอินทรีย์ เหตุเพราะความต้องการของตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น 20% ทุกๆ ปี ลงทุนต่ำ ได้กำไรงาม แถมไม่ก่อมลพิษ ที่เป็นภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ 234 คลัสเตอร์โรงงาน ยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเป็นแหล่งรวม ผู้คนจำนวนมาก เสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ง่าย จากข้อมูลล่าสุด ของ “ศบค.อก.” เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา พบ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งสิ้น 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด อันดับแรก คือ จังหวัดเพชรบุรี รองลงมาคือ สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ, และพลาสติก
“กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้า ศบค.อก. บอกว่า เพื่อการทำงานที่รวดเร็วขึ้น ที่มีการประชุม ศบค.อก.ที่ผ่านมา จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ อีก 2 ชุด คือ คณะทำงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบดู แลโรงงานอุตสาหกรรม และคณะทำงานที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดูแลสถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ตลอดจนแคมป์ก่อสร้าง และรับข้อเสนอของภาคเอกชนมาผลักดัน เบื้องต้น ที่ขอรับความช่วยเหลือ คือ คำแนะ นำและแนวทาง Bubble & Seal ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถทำให้ได้ แต่การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ ATK และ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะช้า เพราะต้องเสนอครม.อนุมัติ
ฟาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ.ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ดีพร้อม” ก็เร่งเดินหน้าหาทางช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น… ยามนี้ขอบอก การค้าการขายฝืดเหลือหลาย “ณัฐพล รังสิตพล” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงทำโครงการ “ถุงดีพร้อมปันน้ำใจให้ชุมชน” เพื่อเป็นการทดสอบตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้เข้ามาพัฒนากับกรมฯ และยังได้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน มาบรรจุในถุงดีพร้อม จำนวน 7,000 ถุง ภายในถุงก็จะมี ข้าวสังข์หยดจากพัทลุง กุนเชียงหมูจากนครปฐม ปลาสลิดผัดพริกขิงจากฉะเชิงเทรา ทองม้วนสอดไส้หมูหยองจากสุพรรณบุรี ฟ้าทะลายโจรจากสระแก้ว น้ำมันสมุนไพรจากกทม.เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแห้งและสมุนไพรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ในยามเกิดวิกฤติโควิด – 19 ตอนนี้รถขนส่งกำลังเดินทาง ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ น่าจะกระจายให้แต่ละครัวเรือนได้ทั่วถึง ส่งให้ชิมฟรีก่อนสั่งซื้อ… วิธีนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากโขจริงๆ
เรื่องที่ 235 ตบท้ายก่อนจากกันวันนี้ มติ ครม.เรื่องโยกย้ายคลังล่าสุด ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.ตรงตามโผเป๊ะ ยิ่งกว่ายิงจรวดนำวิถีใส่เรือรบเสียอีก จึงขอทบทวนกันอีกครั้งก่อนที่จะอ่านข้อมูลลึกๆ ว่า เกิดอะไรขึ้นภายในกระทรวงการคลัง น้องๆ ที่เกิดปี2513, 14 และ 15 ล้วนแต่ได้ดี ขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงก่อนที่จะเสียบเป็นผู้อำนวยการ อธิบดีและปลัดกระทรวงการคลังในที่สุด
7 ตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ ประกอบด้วย 1.ประภาศ คงเอียด จากอธิบดีกรมบัญชีกลาง ไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ 2.กุลยา ตันติเตมิท จากผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.พรชัย ธีระเวช จากรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการ สศค. 4.ธีรัชย์ อัตนวานิช จากที่ปรึกษาด้านตลาดตราสาร หนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง 5.ชุณหจิต สังข์ใหม่ จากผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 6.ธิบดี วัฒนกุล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมสรรพสามิต เป็นผู้ตรวจกระทรวงและ 7.ชลิดา พันธ์กระวี ที่ปรึกษาการคลังเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง
ไฮไลท์ ของการโยกย้ายในครั้งนี้ คือ ตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ แต่เดิมคาดว่า จะทดแทนเฉพาะตำแหน่งที่เกษียณ แต่สุดท้ายไม่ลงเอยอย่างที่คาด เพราะเขาเล่าว่า “ท่านประภาศ” แม้จะหายป่วยจากโรคที่ลือว่า “มะเร็ง” แต่สุขภาพยังไม่แข็งแรงเต็มที่ 100% ขอนั่งไปทำงานที่เบาๆ หน่อย สัก 12 เดือน ดูแล รมช.คลัง สัก 1-2 เรื่องก่อนเกษียณก็พอแล้ว จึงเปลี่ยนแนวความคิดเดิมที่จะเกษียณในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต
ผลของการย้าย “ท่านประภาศ” จึงกระทบไปเป็นวงกว้าง ถ้าไม่ยับยั้งอาจจะไหลไปถึง 3 กรมภาษีได้ (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร) แต่ท่านปลัดคลัง “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” “พี่ตู่” ปลัดคลังปีแรก แน่นอนว่า ไม่อยากย้ายใหญ่อยู่แล้ว เพราะเกรงจะเกิดความแตกแยกภายในกระทรวงการคลัง ภาษีก็หลุดเป้า เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น มาตรการของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ข้อกล่าวหาเช่นนี้ “ปลัดคลัง” มีสิทธิ์ถูกปลดก่อนเกษียณอย่างแน่นอน
ดังนั้น หาก “ท่านประภาศ” ไม่ไปกรมสรรพสามิต ขณะที่ “หม่อง-พชร อนันตศิลป์” ยังอยากอยู่ที่เดิม “อธิบดีกรมศุลกากร” ตัวแปรที่จะทำให้เกิดการย้ายครั้งใหญ่จึงลดลงในทันที แต่จะเล็งใครมานั่งในตำแหน่ง “อธิบดีกรมบัญชีกลาง”ถ้าไม่ใช่ “อุ๋ย-กุลยา” ก็ต้องเป็น “แพต-แพตริเซีย มงคลวนิช” จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แต่ “อุ๋ย” คือน้องรักปลัด และเป็นสายตรงตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่ สศค.เหมือนกับ “แพต” ที่ “ประสงค์ พูนธเนศ” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เชียร์ให้ลุกจากกรมสรรพากร มานั่งที่กระทรวงการคลังประมาณนั้น เมื่อผู้อำนวยการ สศค.ลุกจากตำแหน่ง จึงมอบหมายให้ “พรชัย” เข้าไปนั่งแทน ถือเป็นเด็กสายตรงของ สศค.เช่นเดียวกัน
เมื่อผลการโยกย้ายลงตัวแบบนี้ ส่วนที่เหลือ “ไม่มีอะไรในก่อไผ่” เพราะตำแหน่งอื่นๆ ที่ตั้งเข้ามาตั้งแต่ผู้ตรวจ ถึงรองปลัด กระทรวงการคลังเข้าข่าย “ผู้ช่วยปลัดคลัง” ประสานงานทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะ “ป๋อม-ชุณหจิต สังข์ใหม่” คนนี้ ฝีมือดีแต่เงียบไปหน่อย น่าจะเป็นรองปลัดคุมกรมบัญชีกลาง ช่วยอธิบดีท่านใหม่ได้อย่างสบายไม่ต้องหวังอะไรมาก นั่งบอร์ดรัฐ วิสาหกิจใหญ่ๆ ดีๆ 2-3 แห่ง ก่อนเกษียณรองปลัด สิ้นปีงบประมาณ2565 ชดเชยกันไป
ส่วน “พี่ตุ้ย-ธีรัชย์ อัตนวานิช” เป็นที่ปรึกษา สบน.มานานแล้ว 6 ปี ปีนี้ นั่งทำงานหน้าห้อง รมว.คลัง ข้ามผู้ตรวจขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ไม่โหดนะ ถือว่า เหมาะสมด้วยซ้ำไป
“หน่อง-ธิบดี วัฒนกุล” ที่ปรึกษากรมสรรพสามิต มาเป็นผู้ตรวจ ถือว่า แข่งกันมากับ “ต้อง-ปิยกร อภิบาลศรี” ผู้ตรวจราชการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งก่อนหน้านี้ ไม่เกิน 2 เดือน ก็มาจากกรมสรรพสามิตเช่นเดียวกัน ขณะที่ “ชลิดา พันธ์กระวี” เคยคุยด้วย 2-3 ครั้ง รู้ประวัติว่า มาจากกรมศุลกากรเท่านั้นเอง
โดย นพวัชร์