ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 11-12 ก.ย.2564
“จับตาความสัมพันธ์สองพี่น้อง “บิ๊กตู่–บิ๊กป้อม” สั่นคลอน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลด 2 รัฐมนตรีคู่กาย “พล.อ.ประวิตร” ทั้ง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” อย่างที่ทราบกันว่า ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และ นฤมล ล้วนเป็นคนสนิทของ “บิ๊กป้อม” เป็นคนการเมืองที่ พล.อ.ประวิตร ไว้วางใจและเลือกให้ทำงานสำคัญๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการดูแล ส.ส.การทำพื้นที่ทางการเมือง และมีผลงานเด่นที่ชนะศึกเลือกตั้งซ่อมทุกครั้งไป”
เรื่องที่ 219 การปลด “ร.อ.ธรรมนัส” และ “นฤมล” เท่ากับตัดแขนตัดขาของ “บิ๊กป้อม” ที่สำคัญเป็นการบั่นทอนจิตใจของ “บิ๊กป้อม” อย่างมาก เพราะอีกสถานะหนึ่งของ “บิ๊กป้อม” คือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องดูแล ส.ส.และลูกพรรค การปลดสมุนคู่กาย จึงมองว่าเป็นการไม่ไว้หน้า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ช่วงนี้ มีข่าวว่า “บิ๊กป้อม” นอนไม่หลับเพราะเรื่องนี้ และรู้สึกน้อยใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ ปลดฟ้าผ่าสองรัฐมนตรีคู่กาย นั่นจึงเป็นที่มาของข่าวที่ว่า พล.อ.ประวิตร เตรียมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังประชารัฐ เพื่อเปิดทางให้มีการปรับโครงสร้างของพรรคใหม่
อย่างไรก็ตาม “พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ” ออกปฏิเสธว่า เป็นเพียงข่าวลือ ที่ไม่มีมูลความจริง พร้อมยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังคงมีความพร้อมและยึดมั่นในการบริหารนโยบายผ่านรัฐมนตรีของพรรค ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การเมืองในสัปดาห์หน้าจะเป็นอย่างไร…ไม่รู้ แต่ชีพจรเศรษฐกิจยังคงต้องเดินหน้ากันต่อไป เรื่องที่ 130 หลังจากก่อนหน้านี้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.ท่องเที่ยวฯ หารือกับ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบ การอุตฯท่องเที่ยว โดยเฉพาะเม็ดเงิน 8,000 ล้านบาท ที่จะนำไปช่วยเหลือเป็น “ซอฟท์โลน” เพื่อรีสตาร์ตธุรกิจท่องเที่ยว รองรับการนำร่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงต้น เดือนต.ค.นี้ เบื้องต้นภาคเอกชน โดยเฉพาะ 5 สมาคมท่อง เที่ยวฯ มีจุดยืนที่อยากให้ภาครัฐปล่อยกู้ให้กับเอกชน ทั้งที่อยู่ในและนอกกลุ่ม 5 สมาคมฯ อันเป็นการช่วยเหลือธุรกิจท่อง เที่ยวในภาพรวม ตั้งเป้าขอกู้รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ผ่อนชำระ 7 ปี รวมถึงช่วยเหลือรายใหญ่ เช่น ธุรกิจโรงแรม แต่วงเงินและเงื่อนไขอาจต้องผ่อนปรนมากกว่า อย่างน้อยวงเงินกู้จะต้องอยู่ระหว่าง 5-20 ล้านบาทต่อราย แต่ฝันจะเป็นจริงหรือไม่ สัปดาห์หน้า เห็นว่า 5 สมาคมฯ ภายใต้การนัดหมายของ ก.ท่องเที่ยวฯ จะเดินทางมาหารือกับ ก.คลัง และสภาพัฒน์ คืบหน้าอย่างไรจะหยิบเอามาเล่าสู่กันฟัง!
เรื่องที่ก็ร้อนไม่แพ้กัน! เรื่องที่ 220 เมื่อ ทีม กกร. ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และสมาคมธนาคารไทย เตรียมยกทีมไปคุยกับ “นายกฯ ลุงตู่” ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ในสัปดาห์นี้ นอกจากประเด็นการแก้ไขปัญหาโควิดฯ แล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการมากสุดก็คือ แผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่เตรียมชงให้รัฐบาลรับไปพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน ที่จริง กกร.ทำหนังสือถึงขอเข้าพบนายกฯ มาตั้งแต่ช่วง ส.ค.แล้ว แต่เพราะสถานการณ์โควิด และการเมือง “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ยังไม่นิ่ง จึงเลื่อนแล้วเลื่อนอีก รอบนี้ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าหวังสูง “ลุงตู่” จะเปิดทำเนียบต้อนรับตัวแทนภาคเอกชนได้เข้าหารือ มาลุ้นกันว่า สัปดาห์นี้ “ลุงตู่” จะจัดโปรแกรมให้ กกร.เข้าพบหรือไม่ หรือต้องกินแห้วกันต่อไป
เรื่องที่ 221 กำลังเกษียณอายุในอีกไม่กี่วัน ข้างหน้า “ยุทธนา หยิมการุณ” ยังบุกงานหนัก คาดว่า ลุยกันถึงที่สุด เวลา 16.29 นาที กับอีก 59 วินาที ของวันที่ 30 ก.ย เนื่องจากสัปดาห์ก่อน ยังคงเดินสายมอบโล่เกษียณอายุฯ ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกรมธนารักษ์ (ภาคเหนือ) ต่อด้วยเดินทางไปมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ นัยว่าต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ล่าสุด สัปดาห์ที่จะถึงนี้ เตรียมการเร่งรัดโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ข้าราชการใน 8 จังหวัด รวมถึงโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ที่เจ้าตัวผลักดันมาตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ อย่างว่า โครงการดีๆ อย่างนี้ ต้องละเอียดและรอบคอบ เพราะปลายทางคือ การที่ข้าราชการไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ไม่ต้องเช่าเขาอยู่เหมือนที่แล้วๆ มา นับเป็นความโชคดี 2 เด้งของ ข้าราชการไทย นอกจากกรมธนารักษ์ จะมีโครงการคอนโดมิเนียมข้าราชการแล้ว “ยุทธนา” ยังมีอีกตำแหน่ง และเป็นถึง “ประธานบอร์ด” ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยิ่งทำให้โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ ทำได้ง่ายขึ้น ส่วนใครที่จองโครงการเฟสแรกไม่ทัน คงต้องไปจองในเฟสต่อๆ ไป แต่คงไม่ใช่ยุคที่อธิบดี “ยุทธนา หยิมการุณ” แล้ว
เรื่องที่ 222 ลุ้นกันจนหืดจับ…โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังจะกลายเป็นตำนาน เพราะกว่าจะคัดเลือกผู้ร่วมโครงการ กว่าจะผ่านเข้ารอบ แสนสาหัส สากรรจ์ ลากกันมาข้ามเดือน ข้ามปี ล่าสุด มีผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์จาก กกพ.แล้วจำนวน 74 ราย (จากจำนวนผู้ยื่นขออุทธรณ์ทั้งสิ้น 118 ราย) ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคาร่วมกับผู้ที่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิคก่อนหน้านี้ 95 ราย รวมๆ แล้วผู้ที่มีสิทธิ์ในการเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคาทั้งหมดจำนวน 169 ราย ชิงกับรอบสุดท้ายด้วยราคา ใครเสนอขายไฟต่ำสุดได้ไป วันที่ 20 ก.ย.2564 คือ กำหนดให้มีการเปิดซองพิจารณาด้านราคาและเสนอต่อ กกพ.พิจารณาในวันที่ 22 ก.ย.2564 กกพ.ใช้เวลา 2 วันพิจารณา จากนั้นจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการภายในวัน ที่ 23 ก.ย.2564 ผ่านเว็บไซต์ www.erc.or.th บอกตรงๆ งานนี้มีแต่ขาใหญ่ ค่อยนั่งลุ้น ส่วนเกษตรกรเขาหมดความตื่น เต้นไปนานแล้ว
เรื่อง 223 ต้องยอมรับว่า ธุรกิจ SME มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทย ถ้า SME ติดขัดเศรษฐกิจไทยก็ต้องติดขัดเช่นกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เองก็พยายาม เดินหน้าโครงการ Made in Thailand (MiT) นำพาผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19ให้จงได้ จากข้อมูลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ส.อ.ท.สามารถผลักดันสินค้า MiT เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้วกว่า 68,000 ล้านบาท สิ้นปีนี้ คาดกันว่าจะมีมูลค่าการค้าทะลุ 100,000 ล้านบาท
ส.อ.ท.ยังคาดหวังไว้ว่า สิ้นปีนี้จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย ส่งผลให้มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 รายการ ที่น่าสนใจคือ สินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุดจะเป็น อุปกรณ์งานก่อสร้าง รองลงมาจะเป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ,เครื่องปรับอากาศ ,อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท.บอก อยากให้ SME เข้ามาร่วมเยอะๆ เพราะตอนนี้ได้ร่วมกับ สสว. เจรจาขยายตลาดไปยัง บาห์เรน, อินเดียและจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่แล้ว และหากสินค้าได้รับการรับรอง MiT ก็จะยิ่งได้เปรียบคู่แข่งขัน โอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศก็มีเพิ่มมากขึ้น SME ฟื้น เศรษฐกิจของประเทศก็ฟื้นเช่นกัน
โดย นพวัชร์