ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 10-11 ก.ย.2564
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสี่ยงปลด “ร.อ.ธรรมฃนัส พรหมเผ่า” และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง หากจำกันได้ ร.อ.ธรรมนัส บอกไว้ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งรัฐบาลแล้วว่า “ถ้าล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน เพราะว่าในหลายๆ พรรค หลายๆ ส่วนที่ผมประสานไว้ เป็นความลับที่อยู่ในตัวผมคนเดียว ผมคือเส้นเลือดใหญ่ ที่จะเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงในหัวใจของรัฐบาล”
เรื่องที่ 213 ประโยคดังกล่าว ไม่ใช่ “คำขู่” แต่เป็นคำที่กลั่นออกมาจากใจนักการเมืองหน้าใหม่ ที่มีทั้งอำนาจและเงินทุน ทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส” มั่นใจว่า ตัวเองมีความสำคัญกับรัฐบาลนี้อย่างมาก ถึงขั้นเรียกว่า เส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาลเลยทีเดียว โดยที่ผ่านมา “ร.อ.ธรรมนัส” แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในการทำพื้นที่ฐานเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งซ่อมทุกสนาม มากไปกว่านั้นคือ “การสะสมกำลังเตรียมพร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งใหม่”
สิ่งที่ “บิ๊กตู่” ต้องแลกกับการปลด ร.อ.ธรรมนัสคือ รัฐบาลอาจเดินต่อไม่ได้ และพรรคพลังประชารัฐ จะเกิดความระส่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะงานในสภา ที่ ร.อ.ธรรมนัส มี ส.ส.สนับสนุนจำนวนมาก โดย ส.ส.หลายคนพร้อมทำตามคำสั่งของ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะที่ดูแล และเอาใจใส่ ส.ส.เป็นอย่างดี
มองกันว่า หลังจากนี้ “ร.อ.ธรรมนัส” คงไม่อยู่กับพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน สอดคล้องกับที่ให้สัมภาษณ์ในวันพ้นจากตำแหน่งว่า กำลังหาบ้านหลังใหม่อยู่ เพราะบ้านหลังเดิมอยู่แล้วไม่สบายใจเหมือนเช่นเคย
นักข่าวถาม “ร.อ.ธรรมนัส” ว่าถ้าออกจากพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้พรรคแตกเลยหรือไม่ เพราะ ส.ส.ที่สนับสนุน “ร.อ.ธรรมนัส” มีจำนวนมากพอสมควร โดยได้ตอบสั้นๆ แต่น่าสนใจว่า “ก็ไม่แน่” เห็นทีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด
ติดตามประเด็นร้อน อีกรอบ เรื่องที่ 214 ควันหลงกรณี คปภ.เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิดฯ ที่ “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ.บอกเป็นศูนย์เฉพาะกิจจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปมโควิดฯ ต่อเนื่องจากที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินเคลมล่าช้า เพราะนับถึงต้นเดือนก.ย.2564 ยอดกรมธรรมประกันภัยโควิดฯ พุ่งทะลุ 16 ล้านฉบับ บริษัทประกันภัยทุกรายรวมกัน มีรายรับจากเบี้ยประกันราว 10,000 ล้านบาทเศษๆ แต่จ่ายเงินเคลมไปแล้วกว่า 9,000 ล้านบาท แถมตัวเลขที่ยังค้างจ่ายยังเหลืออีกเพียบ สุดท้ายจะไปจบลงตรงจุดไหนต้องลุ้น แต่ที่แน่ๆ หลังจากส่งทีมงานฯ ลงไปสุ่มตรวจสอบสถานะทาง การเงินของบริษัทประกันภัยแล้ว ยังไม่พบ “สัญญาณลบ” ที่จะกระทบความอยู่รอดของอุตสาหกรรมนี้ ปมที่ทำให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินเคลมล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะยอดคนติดเชื้อโควิดฯ มีมากเกินกว่าคาดการณ์หลายเท่าตัว อีกส่วนเพราะมีการยื่นเรื่องขอเคลมเงินประกัน ในแต่ละวันนับพันๆ ราย บริษัทประกันภัยที่ปรับตัวใช้เทคโนโลยีมาช่วย ก็พอจะทำเรื่องเคลียร์ได้ง่ายและรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของผู้เอาประกันภัย แต่กับบริษัทประกันภัยที่ “ตกรุ่น” ยังใช้แรงงานคนมาตรวจสอบใบเคลม ยังไงก็มีปัญหาเรื่องความล่าช้า! เอาเป็นว่า คปภ. พร้อมยืนเคียงข้างประชาชนนั่นแหละ
ล่าสุดพูดคุยกับ “ชัยยุทธ มังศรี” ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ. คนที่รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนฯและศูนย์ฯแห่งนี้ ยอมรับว่าช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนมาร้องเรียนกับ คปภ.เยอะมาก บางวันสูงเกือบ 2,000 ราย ครั้นจะใช้ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เดิมที่มีอยู่แล้ว คงรับมือไม่ไหว เพราะ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ยังอยู่ในโหมด “เวิร์กฟอร์มโฮม” จำเป็นต้องเร่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจสำหรับรับเรื่องร้องเรียนโควิดฯ เป็นการเฉพาะและเมื่อการเคลมจบสิ้นลง ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ คปภ.จะปิดศูนย์รับเรื่อง ร้องเรียนประกันภัยโควิดฯ แห่งนี้ทันที ส่วนประเด็นที่สังคมอยากรู้ ความล่าช้าในการจ่ายเงินเคลมประกันภัยโควิดฯ ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในกลุ่ม “เจอ จ่าย จบ” ผู้เสียหายหรือผู้เอาประกันภัยฯ มีโอกาสจะได้รับดอกเบี้ยปรับ 7.5% หรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นกับว่าผู้เอาประกันภัยจะยื่นฟ้องต่อศาลหรือไม่ และหากศาลมีคำวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายดอกเบี้ยปรับก็ต้องจ่าย ส่วน คปภ.ทำได้แค่เพียงแนะนำเท่านั้น
เรื่องที่ 215 สั้นๆ สำหรับประชาชนที่ติดโควิดฯ ขอใช้พื้นที่สื่อสารไปยังส่วนราชการและภาคเอกชน เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย นครราชสีมา อยุธยา อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ หากประสงค์จะใช้ที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงแรม อาคารเรียน โกดังเก็บสินค้า อาคารหอพัก เพื่อจัดทำเป็น “สถานที่แยกกักตัวในชุมชน” แก้ปัญหาเชื้อโควิดฯ ล่ะก็ ทางธนาคารออมสินภายใต้การนำของ “วิทัย รัตนากร” พร้อมให้ยืมใช้ฟรี! หลังจากก่อนหน้านี้ ได้รับใบสั่งตรงจาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง และ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง ให้จัดหาสิ่งเหล่านี้ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีความพร้อมสำหรับปรับปรุงให้ใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอยรอการส่งตัว ตามแต่ความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่นั้นๆ มาช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์จำนวนเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยสีเขียวและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ สนใจรีบติดต่อสอบถามรายละเอียดและขอใช้พื้นที่ฯ ได้จากสาขาของธนาคารออมสินในพื้นที่ตัวเองได้เลย ทราบแล้วเปลี่ยน!
เรื่องที่ 216 เพื่อให้สอดรับกับ เทรนด์พลังงานสะอาด ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว และแผนพลังงานของไทย ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ให้ได้ 20-25% ในปี 2573 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. จึงต้องรื้อกลยุทธ์ จัดทัพธุรกิจใหม่ เร่งเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานสีเขียว (Green energy) มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตรวมภายใน 10 ปี ด้วยกลยุทธ์ 4S
S1: Strengthen and expand the Core สร้างความแข็งแกร่ง ,S2: Scale – up Green energy เพิ่มสัดส่วนโครงการพลังงานสะอาด S3: S-Curve & Batteries พัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจอนาคต S4: Shift to Customer – centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า “วรวัฒน์ พิทยศิริ” ซีอีโอ GPSC ยังบอกเพิ่มมาว่า นอกจะเน้นพัฒนาพลังงานที่เป็นแพลตฟอร์ม แล้ว ยังมุ่งที่จะศึกษาความเป็นไปได้กับ Local partner ในประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะ อินเดีย เวียดนามและไต้หวัน อีกด้วย เพื่อก้าวสู่ 1 ใน 3 บริษัทนวัตกรรมพลังงานในภูมิภาคอาเซียน ขอเอาใจช่วยอีกแรงนะครับท่านซีอีโอ
เรื่องที่ 217 “บ้านปู เน็กซ์” ก็เร่งปรับแผนธุรกิจใหม่ เช่นกันด้วยการดัน เทคโนโลยีพลังงานสะอาด สร้าง New S-Curve ให้กับ 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ,แบตเตอรี่ ,ซื้อขายไฟฟ้า,อี-โมบิลิตี้,พลังงานฉลาด เดินหน้าเพิ่มการลงทุน ขยายพอร์ตลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งในไทยและต่างประเทศ “เจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส” ผช.ซีอีโอ บ้านปู เน็กซ์ บอกแผนนี้ต้องเร่งมือ เพราะเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของกลุ่มบ้านปู ที่ต้องการเพิ่ม EBITDA (กำไรก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม)จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ให้ได้ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2568 เพื่อรองรับเทรนด์พลังงานแห่งอนาคตในยุค Never Normal…
ขอบอกย้ำอีกทีว่า…ช่วงนี้ “พลังงานสะอาด” กำลังฮอตมากเป็นพิเศษ… ฮอตไม่ฮอตก็ดู เรื่องที่ 218 หุ้นกู้กรีนบอนด์ ของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ออกตลาดตราสารหนี้เป็นครั้งแรก ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลามเกือบ 3 เท่า จนต้องขยายวงเงินจาก 10,000 ล้านบาท เป็น 12,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมนักลงทุนทุกประเภท “บัณฑิต สะเพียรชัย” ซีอีโอ บีซีพีจี ยิ้มแก้มปริ เพราะเกินเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ มีเงินตุนไว้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสง อาทิตย์ในอนาคต เหนาะๆ 12,000 ล้านบาท สบายใจจริงๆ
เรื่องสุดท้าน 218 ยึดอาชีพนักข่าวตั้งแต่เรียนจบ ยึดความยุติธรรมและจรรยาบรรณทำงานมาตลอดชีวิต ขอโชว์ความผิดพลาดของวิชาชีพตัวเอง จะด้วยความตั้งหรือไม่ตั้งใจ ความเสียหายไม่อาจกล่าวเพียงแค่คำว่า “ขอโทษ” เพราะสำคัญผิดในเนื้อ “ข่าว” สุดท้าย หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดี คำตัดสินของศาลจะเป็นที่สุด!
กรณีนี้ นักเขียนในสังกัดค่ายใหญ่ก็เช่นกัน เมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.2558 เขียนบทความ เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ กล่าวหา ซีพี ออลล์ “ก๊อปปี้” สูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วย แบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่เสนอตัวเข้าไปขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เปรียบเสมือนเป็นการเอาเปรียบและรังแกรายย่อย กระทั่ง ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยข้อความโฆษณา” ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อผู้เขียนรับทราบข้อเท็จจริง จึงทำหนังสือแสดงความเสียใจ และขอโทษ จากนั้น…โจทก์จึงถอนฟ้อง แต่ขอให้จำเลยลงข้อความโฆษณาแก้ไขความผิดพลาดต่อหน้าศาล ทว่าจำเลย หรือผู้เขียนฯ กลับไม่ทำตามสัญญา จึงถูกฟ้องฯต่อศาลแพงตามมา กระทั่ง เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2564 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จำเลยรายนี้ เป็นฝ่ายผิดสัญญาฯ ที่ไม่เพียงจะต้องลงโฆษณาต่อเนื่องในสื่อนานถึง 30 วันเท่านั้น แต่ยังต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่ ซีพี ออลล์ เป็นเงิน 80,000 บาท ย้ำ “แปดหมื่นบาท” พร้อมดอกเบี้ย 7.5% นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้ครบจำนวน เขียนไป…ก็เตือนใจตัวเองไปด้วย.
โดย นพวัชร์