ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 5-6 ก.ย. 2564
“เก็บตกศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ นายกฯ และ 5 รัฐมนตรีจะผ่านสนามศึกซักฟอกมาได้ แต่เมื่อมาพิจารณาดูผลโหวตแล้ว มีหลายอย่างน่าสนใจ”
เรื่องที่ 185 เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ผลโหวตรองบ๋วย โดยได้คะแนนไว้วางใจ 264 คะแนน ไม่ไว้วางใจ 208 คะแนน และเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนไม่ไว้วางใจนั้น มาจากพรรคเล็กพรรคน้อยที่อยู่ในความดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ด้วย สอดคล้องกับก่อนหน้านี้เกิดรอยร้าวขึ้นระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผู้กองธรรมนัส
ในส่วนของฝ่ายค้านพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ส.ส.เพื่อไทย 7 คน โหวตสวนมติพรรค เช่น ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ,พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี , ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ ฯลฯ ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน ยกเว้น 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณาสุข และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยคาดการณ์กันว่า ไม่ช้าก็เร็ว 7 ส.ส.คงทิ้งพรรคเพื่อไทยเป็นแน่แท้
อย่างไรก็ตาม ศึกการอภิปรายฯ หนนี้ทำให้มองเป็นไทม์ไลน์ทางการเมืองที่จะเกินขึ้น 2 อย่าง คือ 1.การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่อาจทนแรงบีบจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้ จึงต้องมีการปรับ ครม.ให้สอดรับกับสถานการณ์
2.ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งย้ายขั้ว ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ เมื่อจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการเดินเกมของพรรค พปชร.ที่ใช้พลังดูดมาแล้วก่อนหน้านี้
นั่นทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป คงไม่ง่ายสำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว แม้จะใช้สูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่พรรคเพื่อไทยถนัด แต่ พปชร.และภูมิใจไทย ก็ดูด ส.ส.เขตไปหลายพื้นที่
สุดท้าย ขอถามพี่โทนี่ ว่าจะแก้เกมนี้อย่างไร
เรื่องที่ 186 จากประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” แต่ไม่จบเสียที! กับเสียงด่าของชาวบ้าน…ทั้งตัวผู้เอาประกัน และญาติของผู้เอาประกันที่เสียชีวิตจากโควิดฯ ต่างพากันไปประท้วง…หน้า สนง.บริษัทประกันภัยกันหลายแห่ง แถมยังข้ามฟากไปร้องเรียนถึงสำนักงาน คปภ.จนเนืองแน่น แม้ก่อนหน้านี้ “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาฯ คปภ. จะออก 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปมจ่ายเคลมประกันโควิดฯล่าช้าไปแล้ว แต่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ…รับเข้ากระเป๋าแสนง่าย แต่จ่ายออกโคตรยาก…มันจึงเป็นประเด็นร้องเรียนให้ดังขรม ตีคู่ไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้
ล่าสุด คปภ. เปิดเกมใหม่ งัดข้อกม.มาเล่นงานบริษัทประกันฯที่จงใจยื้อจ่ายค่าสินไหม “เจอจ่ายจบ” พร้อมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 4 ชุดเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ ขณะเดียวกัน ก็ออกหนังสือคู่มือตรวจเอกสารเรียกร้องค่าสินไหม ที่กำหนดเงื่อนไขเวลาชัดเจนว่า บริษัทประกันภัยต้องพิจารณาคำร้องฯให้เสร็จภายใน 3 วัน และจ่ายเงินค่าสินไหมฯไม่เกิน 15 ทุกอย่างดูดีหมด ถ้าไม่มีประโยคทำนอง “บริษัทประกันฯไม่คิดเบี้ยวจ่ายเคลมโควิดฯ แต่ที่ล่าช้าเพราะต้องพิจารณาและตรวจสอบเอกสารที่มีผู้ยื่นเรื่องของเคลมฯสูงมากวันละกว่า 1 พันเคสท์” แหม! บางเรื่องไม่พูดได้นะ “ท่านเลขาฯไก่”
เดี๋ยวจะมองธุรกิจประกันภัยเป็นภาพลบเสียหมด? เรื่องดีๆ ก็มีให้เห็น! สำหรับ “สาระ ล่ำซำ” ซีอีโอ ค่ายเมืองไทยประกันชีวิต แล้ว จัดเป็น “บิ๊ก” ในฝั่งธุรกิจประกันภัย ที่คอยดูแลเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตนักข่าวมากเป็นอันดับต้นๆ เป็นอย่างนี้ สม่ำเสมอเรื่อยมา ล่าสุด สั่งแพ็กอุปกรณ์และเครื่องมือดูแลสุขภาพของนักข่าวสายเศรษฐกิจ (ประกันภัย) ในการต่อสู้กับไวรัสโควิดฯ ลงกระเป๋าผ้า Care Bag สุดสวย จัดส่งถึงบ้าน แถมสร้างเซอร์ไพร้ส์ จัดทำคลิปวิดีโอ…แสดงความห่วงใยถึงกัน แม้ในยามที่ต้องห่างไกล ใครอยากรู้…อารมณ์ไหน? ลองสแกน QR Code (ตามภาพประกอบฯ) เพื่อรับชมรับฟังได้เลย!.
เรื่องที่ 187 ขอแสดงความยินดี กับ เอ็มดี BAFS คนใหม่ “ม.ล. ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่เพิ่งจะได้รับแต่งตั้งจาก บอร์ด บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) ให้มานั่งแท่นในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แทนนายประกอบเกียรติ นินนาท ที่เกษียณอายุ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 …ต้องบอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงจริงๆ เพราะอายุเพียง 39 ปี ก็ได้รับการยอมรับให้มาบริหารองค์กรใหญ่อย่าง BAFS ….
หลายคนอาจมีคำถาม ว่า “ม.ล. ณัฐสิทธิ์” เพิ่งจะเข้ามาร่วมงานกับ BAFS เมื่อปี 2562 เหตุใดจึงได้รับการไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่ง เอ็มดี …ต้องบอกว่า ประวัติการทำงานไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะ ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน “ม.ล. ณัฐสิทธิ์” ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด และกรรมการในอีกหลายบริษัท ได้แก่ บริษัท แม่ระมาด โซล่าร์ จำกัด บริษัท พี.พี. โซล่า (หนองโน) จำกัด บริษัท เอ ที ซี เอ็นไวโร จำกัด บริษัท เอสดีแอลที จำกัด บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด บริษัท บาฟส์ อินโนเวชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด และบริษัท บริการน้ำมันอากาศยาน จำกัด … รวมทั้งในอดีต เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรนาสโซ มอเตอร์ จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูคาทิสติ จำกัด และที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ก่อนมาร่วมงานกับ BAFS อีกด้วย …คงหากสงสัยกันแล้วนะว่าเพราะอะไรจึงได้นั่งในตำแหน่ง เอ็มดี
เรื่องที่ 188 ต้องยอมรับว่า โควิดในโรงงานอุตสาหกรรมที่แพร่ระบาดลามหนักนั้น สิ่งสำคัญคือ โรงงาน ขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องมาตรการ Good Factory Practice และหลักเกณฑ์ Bubble and Seal ทำให้โรงงานต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย ….เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดเสวนา “ผนึกกำลัง ฝ่าวิกฤต COVID-19 ในสถานประกอบกิจการ” ให้ความรู้สถานประกอบการ ได้ปรับตัวในยามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในโรงงานที่มีเพิ่มมากขึ้น
จะเห็นได้จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ 1 เมษายน – 2 กันยายน 2564 พบการระบาดของเชื้อ COVID-19 ในโรงงานประมาณ 881 โรงงาน ใน 62 จังหวัด และพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 61,919 คน ส่วนจังหวัดที่พบการระบาด ในโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี สมุทรสาคร และเพชรบูรณ์ อุตสาหกรรมอาหาร ครองอันดับ 1
สาเหตุสำคัญ เกิดขึ้นจาก พนักงานได้รับเชื้อที่ระบาดภายในโรงงานแล้วนำไปแพร่เชื้อต่อในสถานที่ต่างๆ และจากพนักงานได้รับเชื้อไวรัสจากสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำไปแพร่เชื้อต่อที่โรงงาน จึงส่งผลให้เกิดการระบาด ของ COVID-19 ในวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นโรงงานหลายแห่งต้องหยุดประกอบกิจการชั่วคราว …และที่สำคัญไปกว่านั้น คือการปล่อยให้มีแรงงานผิดกฏหมายเข้ามา ก็เป็นอีกมูลเหตุหนึ่งของการแพร่กระจาย
โดย นพวัชร์