ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 31 ส.ค.-1 ก.ย.2564
“เปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้ (31 ส.ค.) วันแรกรอบนี้ แม้จะมี รัฐมนตรีเศรษฐกิจเพียงคนเดียวคือ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ต้องขึ้นเขียงให้ฝ่ายค้านฯ รุมสับกับข้อสงสัยเรื่อง “เงินทอน” จากสารพัดโครงการขนาดใหญ่ที่ผุดออกมาถี่เหมือนจะทิ้งทวน แต่อย่ามองข้ามคนชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” เพราะสถานการณ์โควิด ระลอกล่าสุด ฉุดเศรษฐกิจทั้งระบบให้ดำดิ่ง ทิ้งห่างเพื่อนบ้านอาเซียนและ 15 ชาติคู่ค้าสำคัญ จนฝ่ายตรงข้ามจ้องถล่มแรง แต่คนที่น่าจับตาจากฝั่งรัฐบาล กลับเป็น “คนใน” ที่ชื่อ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่คอยดูแลสมาชิกพรรคฯ ถ้าคุมไม่อยู่ อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลง!”
แต่วันนี้ เพียงวันแรก บรรยากาศอภิปรายดูเงียบเหงา ไม่ร้อนแรง แม้ว่า “พรรคเพื่อไทย” จะเฟ้นหาข้อมูลใหม่ มาเปิดในสภา แต่ก็ยังไม่โดดจุดสำคัญ ถึงขั้นรัฐบาลกระอักออกมาเป็นลิ่มเลือด โดยเพราะประเด็นส่วนต่าง วัคซีนยี่ห้อ “ชิโนแวค” 3.6 พันล้านบาท
เรื่องที่ 162 เศรษฐกิจดีหรือไม่ ล้วงเงินในกระเป๋าของตัวเองจะรู้ดีที่สุด แต่กับ “หน่วยหาเงิน” อย่างเช่น กรมสรรพากร ยุค “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส” ต้องงัดสารพัดช่องทางขยายฐานภาษี มาเพิ่มยอดรายได้สู้โควิด หลังจากสุ่มโป่งมา 2 ปี ได้ฤกษ์ประกาศใช้ภาษี e-Service กับธุรกิจต่างชาติที่ทำมาหากินผ่านช่องทางออนไลน์กับคนไทย ว่ากันว่า เม็ดเงินที่ได้เพิ่มปีละ 5,000 ล้านบาท คือเงินที่เคยหายไปในสัดส่วนเดียวกัน เอาเป็นว่า…นำร่อง 50 ธุรกิจออนไลน์ของต่างชาติในไทย ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ทุกรายจะต้องขยับเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้ ทราบแล้วเปลี่ยน! แต่ก่อนจากกัน เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและเป็นจริงมากที่สุด “ภาษีแวต” เก็บจากผู้บริโภคคนสุดท้าย ก็คือ “คนไทย” ไม่ได้เก็บจากบริษัท ห้าง ร้าน รวมถึงธุรกิจออนไลน์บริษัทต่างชาติอย่างที่เข้าใจกันผิดๆ
เรื่องที่ 163 วันก่อน กลุ่มไรเดอร์ รับส่งอาหาร เพิ่งออกข่าวถล่ม กระทรวงพาณิชย์ ปมบีบ “แพลตฟอร์ม” ลดค่า GP เล่นงานผู้บริหารระสูงของกระทรวงจนตั้งรับไม่ไหว กรมการค้าภายในต้องออกข่าวชี้แจงไปเมื่อวันก่อน เพื่อกลบกระแสในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ล่าสุด มีข่าวดีมาบอกบรรดาธุรกิจร้านอาหารและไรเดอร์ หลังจาก ธปท.ทำหน้าที่เป็นตัวประสาน เชื่อม ธนาคารออมสิน กับ LINE MAN Wongnai มาร่วมจัดเงินกู้ 4 ประเภท อัตราดอกเบี้ยต่ำมาให้ถึงที่ นัยว่าเป็นทั้งการต่อลมหายใจ เสริมสภาพคล่อง และขยายงาน จัดให้ขนาดนี้ ต้องรีบแล้ว เช็คจาก www.gsb.or.th แอปพลิเคชัน MyMo สาขาออมสินทั่วไทย หรือที่ GSB Contact Center โทร. 1115.
เรื่องที่ 164 หลังจากระดมเจ้าหน้าที่ เร่งระบายน้ำ ที่ท่วมขังใน “นิคมอุตสาหกรรมบางปู” ทั้งวันทั้งคืน ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมก็ได้เริ่มลดระดับลงแล้วในบางพื้นที่ รถยนต์สามารถสัญจรได้แล้ว “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าฯ กนอ. แจ้งมาว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตประกอบการทั่วไปน้ำลดลงจนเกือบแห้ง ยกเว้นในบริเวณซอย 11 ถึง 14 ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังระดับความสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ส่วนในเขตประกอบการเสรียังคงท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ หากฝนไม่ตกเลย น้ำก็จะลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ตอนนี้ทางนิคมฯก็ยังคงเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในส่วนทางจังหวัดสมุทรปราการ ก็ได้สั่งการให้ 4 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง คือ อำเภอบางพลี, บางบ่อ, บางเสาธง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ เร่งสำรวจความเสียหายของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ่อปลา บ้านเรือน รวมถึงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ถูกน้ำท่วม เพื่อชดเชยเยียวยา ส่วนชุมชนใน หมู่บ้านชลเทพ ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว น้ำยังท่วมสูง เช่นเดียวกับหมู่บ้านเมืองเอก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำที่ถูกระบายจากนิคมอุตสาหกรรม ระดับน้ำยังสูงอยู่เช่นกัน…มีความคืบหน้าอย่างไร ทางทีมงาน AEC10NEWS จะแจ้งมาให้ทราบอย่างต่อเนื่องครับ
เรื่องที่ 165 ผ่อนเกณฑ์กองทุนฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “บอร์ด กกพ.” ได้มีมติ ผ่อนเกณฑ์กองทุนพัฒนาพัฒนาไฟฟ้า 97 (3) ประจำปีงบประมาณ 2565 ในการจัดทำข้อเสนอโครงการชุมชน โดยให้พื้นที่ สามารถยกเว้นขั้นตอนการสำรวจความต้องการของชุมชน และสามารถใช้เงินกองทุนได้ ในกรณีต้องการนำเงินมารับมือสถานการณ์โควิด-19 เยียวยาพื้นที่ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ชุมชนใดต้องการนำเงินไป ฟื้นฟู เยียวยา ก็สามารถทำเรื่องเสนอมาได้
ส่วนปัญหาครูอัตราจ้างกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปางนั้น พ่อแม่พี่น้องก็อย่าพึ่งร้อนใจ “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาฯ กกพ.ก็มิได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งรัดหาทางแก้ปัญหาอยู่ ล่าสุด ข่าววงในแจ้งมาว่าได้ แต่งตั้งนาย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธาน คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อขับเคลื่อนกลไกกองทุนแม่เมาะ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้าสู่สภาวะปกติ
เรื่องที่ 166 ท่ามกลางความแตกแยก มีการใช้ความรุนแรงของทั้ง 2 ฝ่ายคือ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. นำมา ซึ่งความกังวลของหลายฝ่ายว่า จะเกิดการลุกลามบานปลาย นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของคนไทยด้วยกัน
นักวิชาการหนุ่ม “อุเชนทร์ เชียงเสน” อาจารย์วิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอแนวคิด “ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่และกระบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง” โดยเป็นชุดความคิดที่ว่า การต่อสู้กับความรุนแรงให้ได้ผลนั้น คือการไม่ใช้ความรุนแรง
ดูเหมือนโลกสวย แต่ “อุเชนทร์” อธิบายว่า เมื่อมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงข้าม หรือกระบวนการทางสังคมที่ใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มันจะเกิดผลสะท้อนกลับในเชิงลบกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง โดยทำให้ความชอบธรรมของระบบนั้นอ่อนแอลง เปลี่ยนมติสาธารณะให้ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เมื่อชนชั้นนำใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ พล เมือง หรือผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดๆ จะเกิดความไม่พอใจมากขึ้น
นักวิชาการหนุ่ม ชี้ว่า หัวใจสำคัญของหลักการนี้ คือการอาศัยความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณะ โดยผู้ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ฝ่ายของตนไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่หากถูกกระทำจากผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว
แต่เมื่อไหร่ที่มีการใช้ความรุนแรงด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ความชอบธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะค่อยๆ หมดไป
กระนั้น เมื่อหันมาดูพฤติการณ์ของทั้งฝ่ายรัฐ และกลุ่มผู้ชุมนุมในเวลานี้ เห็นว่าต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น หากนำ หลักการที่ “อุเชนทร์” นำเสนอมาใช้ เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงได้ และนั่นคือหนทางของความปรองดอง สมานฉันท์ อาจเป็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งในสถานการณ์ที่ร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปได้
สุดท้ายเรื่องที่ 167 ขอจบลงด้วยผลงานของ “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) “อาจารย์คณิศ” ของพวกเราชาวกระทรวงการคลัง ล่าสุดทุ่มงบตั้งโรงพยาบาลสนามอีอีซี บ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ หลังพบว่า แรงงานในโรงงาน และประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่แบบรวมกัน แยกกันไม่ออก เมื่อแรงงานไปตลาด ประชาชนก็ไปตลาด แรงงานไปวัด ประชาชนก็ไปวัดไหลกันไปมา แรงงานติดเจ้าไวรัสโควิดประชาชนก็ติดด้วย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจึงเป็นโอกาสที่ดีของอีอีซี ที่จะมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ต้นแบบอย่างอำเภอบ้านฉาง โดยไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว.
โดย นพวัชร์