ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 24-25 ส.ค.2564
“เรียกว่า เด้งฟ้าผ่าเลยก็ว่าได้ สำหรับการแต่งตั้ง “ธนกร วังบุญคงชนะ” จากเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนเดิม ก่อนหน้านี้ไม่นาน “อนุชา” ยังเป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม เดินทางไปวัดราชาธิวาสวิหาร เข้าถวายเครื่องสักการะ ประกอบด้วย ธูปเทียนแพ พุ่มดอกไม้ ผ้าไตร และเครื่องไทยธรรม ถวายแด่พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เจ้าคณะภาค 16, 17, 18 และประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2564”
“แด๊ก” ขึ้นเป็นโฆษกรัฐบาล ขออนุญาตเป็นเรื่องเด่น เรื่องที่ 129 ประจำวันนี้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” หรือแด๊ก กว้าขึ้นเป็นโฆษกของรัฐบาล งานไม่ธรรมดาจริงๆ หลังจากรัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนัก “พล.อ.ประยุทธ์” อยากเห็นโฆษกรัฐบาลตอบโต้การเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน และสไตล์การทำงานของ “ธนกร” ก็ตอบโจทย์ นายกฯ เป็นอย่างดี เพราะ “ธนกร” โต้การเมืองไม่เว้นแต่ละวัน ต่างจาก “อนุชา” ที่ชี้แจงในหลักการ ไม่พูดการเมืองมากนัก
สำหรับ “ธนกร” ถือว่ารอตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ก็มีเป้าหมายมาโดยตลอดว่าจะได้ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล เพียงแต่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ไว้วางใจ เพราะโดยภาพลักษณ์ของ “ธนกร” นั้น หนักไปทางสงครามน้ำลาย มากกว่าการใช้หลักการและเหตุผล
กระนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องแลกกับการแต่งตั้ง “ธนกร” เป็นโฆษกรัฐบาล คือ ต้องรับผลกระทบจากการพูดการเมืองอยู่บ่อยๆ ของโฆษกรัฐบาลคนใหม่ หรือการรอรับทัวร์ลงนั่นเอง เพราะขนาด “ธนกร” ยังไม่ได้เป็นโฆษกรัฐบาล พูดการเมืองในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังถูกกระแสโจมตีอย่างหนักหน่วง เนื่องจากการให้ข่าวของเขานั้น เน้นการโต้การเมืองแบบเล่นปิงปอง มากกว่าการให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงให้เกิดกระจ่าง
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วก็อยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะต้องการบรรยากาศการเมืองในช่วงนี้เป็นแบบไหน การตั้ง “ธนกร” เป็นโฆษกรัฐบาลในตอนนี้ อาจเห็นว่าการโต้การเมือง สำคัญกว่าการชี้แจงด้วยหลักการและเหตุผลก็เป็นได้
เรื่องที่ 130 ที่สุด! ครม.เพิ่งมีมติปัดทิ้ง 1 ใน 2 ข้อเสนอจากฝั่ง ธปท. หลังรับลูกข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ไฟเขียวให้มีการขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไปอีก 2 ปี อย่างว่า สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ คงไม่มีรัฐบาลไหนจะกล้าหาญขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ส่วนเรื่องเพิ่มวงเงินกู้รอบใหม่อีก 1 ล้านล้านบาท แม้ก่อนหน้านี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จะปฏิเสธไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีความจำเป็นในยามนี้ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติที่แน่ชัด เหตุเพราะยังมีเวลาให้ตัดสินใจในวันข้างหน้าอีกนาน
หรือเพราะฟากกระทรวงการคลังจับสัญญาณได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดถึงจุดพีคเดือนส.ค.นี้ จำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มทยอยลดลง และอาจนำไปสู่นโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะเพียงแค่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดที่เคยมี ควบคู่ไปกับการเปิดให้มีการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น กลไกทางเศรษฐกิจจะกลับพลิกฟื้นคืนมา ถึงตอนนั้น ไม่เพียงรายได้จากภาษีที่จะมีตามมา แต่ยังหมายถึงการฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่เคยหดหายไปก่อนหน้านี้ กระทั่ง ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม ให้เป็นภาระของคนรุ่นใหม่ในอนาคตกันอีก
นอกจากเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังมีข่าวดีให้ผู้เสียภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้ชื่นหัวใจกันอีก เพราะ ครม.ใช้เวทีเดียวกัน ผ่อนปรนตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร สั่งยืดเวลายื่นแบบภาษี รวมถึงงดและลดเบี้ยปรับ กรณียื่นแบบเสียภาษีล่าช้า นัยว่ารอบนี้ ยอมเสียจังหวะรีดภาษีนิดหน่อย เพราะจะได้เพิ่มลมปานให้ผู้ประกอบการอีกสักระยะแล้วค่อนถอนขนข่านใหม่น่าจะดีกว่านะพี่น้อง เพราะท่านอธิบดี “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ต้องการจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากพิษโควิดฯนั่นเอง
อีกเรื่องดีๆ ที่ต้องขยายความคือ เรื่องที่ 131 เมื่อบริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลก อย่าง Moody’s ได้จัดอันดับเครดิตของไทย โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ Baa1 และมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่ง “แพตริเซีย มงคลวนิช” ผอ.สบน. ได้แจงถึงเหตุผลของ Moody’s ที่มองเข้ามายังประเทศไทย และเห็นว่าบ้านเรามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่และหลากหลาย โดยเฉพาะอุตฯผลิตรถยนต์ รวมถึง “อนาคตที่น่าจับตามอง” นั่นคือ “อีอีซี” ที่จะเข้ามาเติมเต็มการลงทุนของภาคเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศในระยะ 2–3 ปีข้างหน้า “เด็กมาแตร์” ตอบเก่งแบบนี้ ใช่เปล่าครับ
เรื่องที่ 132 น่าชื่นชม…ผลงานพัฒนาหุ่นยนต์ ที่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี บริษัทในเครือ ปตท.สผ.ได้จับมือกับ บริษัท โรโตเทค จำกัด จากสิงคโปร์ พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ Roto Climber หรือ หุ่นยนต์ตรวจสอบ และบํารุงรักษา ท่อปิโตรเลียมแนวตั้ง เครื่องแรกของโลก เป็นผลสำเร็จ “ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์” ผู้จัดการทั่วไป เออาร์วี บอกว่า ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องอาศัยนักประดาน้ำและเรือสนับสนุน เข้าไป ตรวจสอบ ทำความสะอาดในพื้นที่อันตรายอีกแล้ว เพราะหุ่นยนต์ Roto Climber สามารถ ปฏิบัติงานได้ทั้งในพื้นที่เหนือระดับน้ำ และใต้ผิวน้ำลึกสุดถึง 200 เมตร ลดความเสี่ยง เซฟค่าใช้จ่าย ดูการทำงานได้อย่างเรียลไทม์ ติดตามและวิเคราะห์ผลอีกด้วย แหม…ของเขาดีจริงๆ…
SMEs ได้เฮ… เรื่องที่ 133 เอ็มดี ธพว. “นารถนารี รัฐปัตย์” ขอแจ้งข่าวดี จริงๆ หลังจากได้ไปหารือกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างๆ ทั้ง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฯ ถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว หรือ Supply Chain เช่น ธุรกิจนำเที่ยว-ทัวร์ สินค้าที่ระลึก ร้านกาแฟ เครื่องดื่ม ขนม เบเกอรี่ ฯลฯ ก็ต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนเช่นกัน ดังนั้น สสว. และ ธพว.จึงได้ขยายสิทธิ กู้เงิน สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ให้ครอบคลุมไปยัง กลุ่ม Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายได้ที่เดือดร้อนสามารถทำเรื่องขอสินเชื่อได้เลย
ขอช่วยพี่น้องเอสเอ็มอีย้ำกันอีกครั้งว่า “นารถนารี” รับปากแล้ว ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่แต่งสวย หลบโควิดอยู่หลังกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมองไม่เห็นเจ้านายที่นั่งอยู่กระทรวงการคลัง เพื่อนและพี่น้องแบงรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ทุกคนร่วมกันทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ช่วยเอสเอ็มอีกันสุดเต็มความสามารถ ทั้งในตอนที่วิกฤติสุดๆ และเริ่มคลี่คลาย ขณะที่ “เอสเอ็มอีแบงก์” หนึ่งเดียวที่เงียบกริบ!! หายหน้าไป พอทุกอย่างเริ่มขึ้นดี เวทีเปิดแล้ว ขออนุญาตร้อง 3 เพลงรวด ตัดหน้าแซงเพื่อนและพี่น้องแบงก์รัฐที่ลำบากกันมาก่อนหน้านี้ ไปเฉยเลย
“พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด” เรื่องที่ 134 เป็นอีกหนึ่งมาตรการของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ.ที่ทำงานเชิงรุก ผลักดัน ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ วิสาหกิจชุมชน ทั่วประเทศให้ก้าวสู่การเป็น “ซูเปอร์เอสเอ็มอี” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อธิบดี กสอ. “ณัฐพล รังสิตพล” บอก แม้จะเป็นช่วงโควิด แต่ก็ไม่หยุดผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งตอนนี้ ศูนย์ ITC ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ มีความพร้อมเป็นอย่างมาก ทั้งเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนากระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตอบโจทย์ ความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมามีกว่า 8,766 ธุรกิจเข้ามา รับบริการ จากสินค้าบ้านๆ ตอนนี้กลายเป็น “ซูเปอร์เอสเอ็มอี” ไปเรียบร้อยแล้ว
ทิ้งเรื่อง โยกย้ายคลังเอาไว้สุดท้าย ครม.อังคารนี้ พลาดกันอีกแล้วพวกเรา จากนี้ไป ใจต้องนิ่ง ดำน้ำให้อึดเอาไว้ รักใครชอบใคร อยู่เงียบๆ ปิดช่องโหว่ให้มิด หากไม่มีเรื่องใดๆ มาแซะ กวนน้ำให้ขุ่น รอจังหวะดีๆ ลุ้นกันวันที่ 31 ส.ค.นี้ “ย้ายเล็กๆ ก็พอแล้ว”
โดย นพวัชร์