ข่าวเด่น ข่าวดัง ประจำวันที่ 21-22 ส.ค.2564
“ความเดิมจากเมื่อวันก่อน ที่ทิ้งท้ายเอาไว้ให้ชวนติดตาม ภายใต้กระแสข่าวลือ “ปล่อยข่าวลือ” กระทบไหล่ดาราคนที่จะขึ้นเป็นอธิบดี หรือช่วงชิงตำแหน่งอธิบดี มีนานตั้งแต่อดีตกาล ไม่ใช่ยุคนี้ สมัยนี้เท่านั้น น้องสาวท่าน “เบญจา หลุยเจริญ” ไม่ขอเอยนาม ในสมัยที่ “สาธิต รังคศิริ” นั่งอธิบดีกรมสรรพากร ในทางปฏิบัติ “ยากยิ่งนัก” ที่จะขยับจากรองขึ้นเป็นอธิบดีโดยไม่ผ่านผู้ตรวจราชการ หรือรองปลัดกระทรวงการคลัง ข่าวเรื่อง “ดันคนตัวเอง” จึงไม่เป็นความจริง”
เรื่องที่ 118 เล่าอดีตกันต่อไป มาถึงช่วงก่อนไฮไลท์ ต้องขีดเส้นใต้ 2-3 เส้น บักทึกเอาไว้ กระทรวงการคลังมีผู้หญิงเก่ง 3 คน สมัยนั้น นักข่าวเรียกท่านทั้ง 3 คนว่า “สาว สาว สาว” ขออนุญาตเอยนามท่านเพราะเขียนเรื่องนี้ นึกภาพ “เครื่องบินลำหนึ่ง” ลอยขึ้นมาในสมอง ก็ได้ “สาว สาว สาว” กลุ่มนี้แหละ!! กับ “ปลัดตุ้ม” อารีย์พงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดหนึ่งเดียวของกระทรวงคลังที่ได้นั่งหลายกระทรวงตั้งแต่ ก.พ. กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพลังงาน เชื่อว่าในรอบ 100 ปีจากนี้ไป คงไม่มีใครทำได้เท่า “พี่ตุ้ม” อีกแล้ว (เรื่องปลัดตุ้ม ถูกปลดจากปลัดคลังว่างๆ จะเล่าให้ฟังวันหลัง เพราะคนที่ปลดคนที่ตัดสินใจไม่ใช่นักการเมือง แต่คนใกล้ชิดและทีมงานหน้าห้องระบุว่า เป็นคนในกระทรวงคลังนี่แหละ!!
สาว สาว สาว “เบญจา หลุยเจริญ, สุภา ปิยะจิตติ, เสาวนีย์ กมลบุตร” ทั้ง 3 คนนี้ โดยเฉพาะ “สุภา” หรือ “พี่โด้ง” ถือเป็นผู้หญิง (อตร.) อันตรายมากที่สุดของกระทรวงการคลัง เพราะเธอคือ “มือปราบทุจริต” แห่งตำนานตัวจริงเสียงจริง ผมจำไม่ค่อยได้ หนึ่งในนั้นใครเรียกปลัดรังสรรค์ (รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์) ว่า “ไอ้อ้วน” เอาเป็นว่า ปลัดรังสรรค์เกรงใจคนนี้มากที่สุดในช่วงเวลานั้น
กลับมาเรื่อง “โกงภาษี” มูลค่าเพิ่ม (แวต) กันต่อ ถ้าหากผุด Timeline ขึ้นมาไล่เรียงลำดับแล้ว จะได้ไม่งง ไม่สับสน เพราะในช่วงที่ “สาธิต” เป็นอธิบดีกรมสรรพากรถือว่า ยาวนานมาก ระหว่างปี2553 ถึงปี2556 มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกี่ยว กับเรื่อง “โกงภาษีมูลค่าเพิ่ม” อยู่หลายคดี บวกกับข่าวกรมศุลกากร จับโกงภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำเป็นดาบสอง ดาบสามไปมา จึงให้เห็นเป็นข่าวพาดหัวตัวโต ตามหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน โดยมีคดีหนึ่ง เป็นข่าวใหญ่โต เพราะ คนสั่ง!! หวังว่า หากเชื่อมโยงข้าราชการซี 8 กรมสรรพากรถูกไล่ออกได้แล้ว เพราะเป็นคดีโกงภาษีเหมือนกันแล้ว “ตัวเองจะรอด” แต่ในท้ายที่สุด เป็นคนละเรื่องกับ “การโกง” ที่ศาลสั่งติดคุกตลอดชีวิต
ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เกิดปีที่ “เบญจา” เป็นรมช.คลัง (2556) แต่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ประมาณปี2554 และมาฝีแตกเมื่อปี2555 เป็นเหตุให้ “ปลัดตุ้ม” ตั้ง “ประสิทธิ์ สืบชนะ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาได้ชี้มูลความผิด เสนอย้าย “สาธิต” ออกตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อปี2556 แล้วตั้ง “สุทธิชัย สังขมณี” เป็นอธิบดีได้เพียงปีเดียว 2556-2557 “ประสงค์ พูนธเนศ” ก็ขึ้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ระหว่างปี2557 จนถึงปี2561 ก่อนเป็นปลัดกระทรวงการคลังในที่สุด
ในขณะนั้น กระทรวงการคลังไม่มีใครคิดว่า “สาธิต” จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว แต่เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใส จึงมีการเสนอย้ายอธิบดีออกจากตำแหน่งไปก่อน เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเกิดขึ้นโดยปราศจากข้อกังขา และอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น
คนวงในกรมสรรพากรระบุว่า “ไม่มีใครกล้าทำอะไร ได้แต่บ่นในใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” ข่าวลือช่วงนั้น หนาหูมากยืนยันแล้วยืนยันอีก พบความไม่ชอบมาพากลอย่างแน่นอน จุดแรกคือคนที่มารับเช็คหลายครั้งหลายฉบับ เป็นคนกลุ่มเดียวกัน หน้าเดิมๆ ฉบับละ 100 ล้านบาท หรือ 200 ล้านบาท รวมยอดเช็คเดือนละ ประมาณ 500 ล้านบาท อย่างนี้ มีหรือที่จะรอดพ้นสายตาผู้ตรวจภาษีอากร
จุดที่สองคือ ผู้ประกอบการที่เป็นตัวจริงกับตัวปลอม มีหรือที่เจ้าหน้าที่จะไม่ทราบ เพียงแค่มองหางตาก็พบ “พิรุธ” เหมือน กับตำรวจเดินสวนกับโจร จุดที่สามคือ สำคัญที่สุด “ไม่ตรวจสอบการคืนภาษี” ไม่ตรวจสอบสถานที่ประกอบการ โดยอ้างส่งออกเศษเหล็กแล้ว มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต่อมาพบว่า บริษัทที่ขอคืนภาษีจดทะเบียนบริษัทอยู่ในคอนโดมิเนียม และประเด็นที่สี่คือ คืนภาษีเร็วมากๆ ขนาดถึงขั้นพบเห็นข้าราชการสรรพากรจากพื้นที่ 22 มานั่งเฝ้ารอรับเช็คที่โรงอาหารกรมสรรพากรในวินาทีนั้นเลย
อดีตอธิบดี 3 คน พูดตรงกันว่า ถ้ามีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม “ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบครอบ” การโกงภาษีมันหยามใจนักภาษีทุกคน เจ้าหน้าที่กว่าเก็บภาษีได้ถือว่ายากเย็นแสนเข็น หลักร้อย หลักพันบาทก็ต้องเก็บเอาไว้ก่อน สุดท้ายกลายเป็นรีดเลือดกับปู ทำไปถูกด่าไป ผัวเมียก็เลิกไปแล้วหลายคู่ เพราะมัวแต่ทำงาน
จากจดหมายของข้าราชการสรรพากรพื้นที่ 22 จ่าหน้าซองถึง “ปลัดตุ้ม” ขอยืนยันว่า ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ เพราะมาพร้อมรายละเอียดยาวเหยียด และหลักฐานต่างๆ มากมาย มัดอย่างแน่นหนา จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในที่สุดเพราะก่อนหน้านี้ มีการตั้งคณะกรรมการสอบภายในกรมสรรพากรขึ้นมาแล้ว 1 ชุดแล้ว แต่ก็ไม่พบพิรุธ “การคืนภาษีอย่างไม่ถูกต้อง” ทำให้การคืนภาษียังคงดำเนินการต่อไป รวมระยะทั้งหมดยาวนาน 11 เดือน เกือบ 1 ปี รวมมูลค่าความเสีย หาย 4,300 ล้านบาท มีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 22 คน ตั้งแต่ซี3 ขึ้นไป โดยระบุว่า “บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเป็นกระบวนการ รู้เห็นเป็นใจทำให้รัฐเกิดความเสียหาย จึงไม่สามารถละเว้นให้ใครได้”
การทำงานของข้าราชการกรมสรรพากรมีอยู่อย่างหนึ่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญมาตั้งแต่อดีตคือ “เรื่องโกงภาษี” แม้ระบบการจัดเก็บและการตรวจสอบภาษี จะเอื้อให้เกิดการโกง การใช้ดุลพินิจหรือสมรู้ร่วมคิดก็ตาม แต่หากผู้ใดโกงภาษีแล้ว ข้าราชการสรรพากรที่อยู่สูงกว่า หรือต่ำกว่า จะไม่ละเว้นประเด็นนี้เป็นอันขาด เพราะคนที่เขียนจดหมายถึง “ปลัดตุ้ม” เป็นเพียงข้าราชการตัวเล็กๆ ที่มองเห็นการทุจริตของอดีตเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ 22 ตั้งแต่ต้นจนจบ
โดย นพวัชร์