4 กุมาร คัมแบ็ค จับตา การเมืองแบบ “เทคโนแครต”

มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจจากกลุ่ม 4 กุมาร เมื่ออยู่ๆ อุตตม สาวนายน โผล่เปิดตัว สถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation ซึ่งถูกมองว่าหยิ่งเชิงก่อนเปิดตัวพรรค
สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวจากทีม 4 กุมาร ที่มีพี่ใหญ่อย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และขุนพล 4 ยอดกุมาร อย่าง อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) , สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค พปชร. , สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค พปชร., กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตกรรมการบริหารพรรค พปชร.

4 กุมาร หายเงียบไปนับตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ก.ค.2563 โดยมีข่าวมาตลอดว่า 4 กุมาร เตรียมตั้งพรรคการเมือง สู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ เตรียมความพร้อม และจะเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ในเวลาที่เหมาะสม
วันที่ 8 ก.ค.อุตตม สาวนายน เปิดตัวสถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation ซึ่งถูกมองว่า เป็นการหยั่งกระแส ชิงพื้นที่สื่อก่อนจะโหมโรงเปิดตัวพรรคการเมืองในลำดับต่อไป
สถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation นี้ เป็นสูตรเดียวกับที่ “อุตตม” ทำเมื่อเริ่มก่อร่างตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยเวลานั้น “อุตตม” ได้รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาเข้าร่วมเป็นทีมนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ นักวิชาการจากนิด้าโพล , เภสัชกรหญิงโสภา พิมพ์สิริพานิชย์ หรือ “โซอี้” นักการตลาดชื่อดัง , ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา นักธุจกิจหนุ่มไฟแรง รวมไปถึง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน คนปัจจุบัน ฯลฯ

มาในคราวนี้ อุตตม เปิดตัวทีมงานในสถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation ไม่ต่างกับเมื่อครั้งก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ คือเน้นคนรุ่นใหม่ เลือกความเป็นนักวิชาการมากกว่าประสบการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น
ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี หลานชายของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ บุตรชายของสมคิด ผู้มีความเชี่ยวชาญด้าน Data-driven public policy , ธราธร รัตนนฤมิตร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยุทธศาสตร์เชิงกลยุทธ์ , ประกาย ธีระวัฒนากุล ผู้มีส่วนร่วมในการทำยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0
นอกจากนี้ยังมีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ๆอย่าง กานต์กมล สินเจริญ , อภิวรรณ ดวงภุมเมศ , อิทธิพัทธ์ ผลเพิ่ม ,สุทธิเกียรติ ชุนประสาน ฯลฯ
พวกเขาหวังให้ สถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation เป็นแพลตฟอร์มนโยบายแห่งอนาคตและเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยผลักดันให้เกิดกระบวนการออกแบบ ทดลอง และแปรนโยบายสู่การปฏิบัติจริง บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐาน (evidence-based) และความใส่ใจผู้รับนโยบาย (user-centric)

เป็นแม่แรงให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือและกลุ่มที่สามารถให้ความช่วยเหลือนั้นได้ เพื่อจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับการพัฒนาประเทศ
อุตตมและทีม 4 กุมาร พยายามทำการเมืองแบบวิชาการนำการเมือง โดยให้หลักวิชาการนำนโยบาย หรือที่เรียกว่า “เทคโนแครต” มาตั้งแต่เมื่อก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐแล้ว เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐ เป็นการรวมตัวกันของนักการเมืองมากหน้าหลายตา ผู้มีอิทธิพลสูงของพรรค คือผู้ที่ทำพื้นที่การเมืองอย่างจริงจัง มี ส.ส.ในมือเป็นจำนวนมาก ทำให้แนวทางของ 4 กุมาร ไม่ได้รับการยอมรับในพรรคพลังประชารัฐ มิหนำซ้ำ 4 กุมาร ยังถูกบีบให้ออกจากพรรคในเวลาต่อมา
ดังนั้น นี่จึงเป็นความพยายามทำการเมืองแบบเทคโนแครตอีกครั้งของอุตตม และทีม 4 กุมาร โดยได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากสมคิด และภาคธุกิจ อุตสาหกรรม ที่เคยทำงานร่วมกับอุตตม สมัยเป็น รมว.คลัง และ รมว.อุตสาหกรรม
สำหรับ 4 กุมาร นับแต่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อกลางปี 2563 ก็มาข่าวมาโดยตลอดว่า เตรียมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ แต่มารอบนี้ 4 กุมาร อาจโผล่ไม่ครบทีม

โดยอุตตม และ สนธิรัตน์ ยังแน่วแน่นว่าอยากทำการเมืองต่อไป
ขณะที่ สุวิทย์และ กอบศักดิ์ มีแนวโน้มว่าจะไม่หวนกลับมาในนามการเมืองอีกแล้ว เพราะได้บทเรียนจากเกมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐมามากพอสมควร
ดังนั้น พรรคการเมืองใหม่ของ 4 กุมารก็จะเหลือแค่ อุตตม และ สนธิรัตน์ แต่ดีไม่ดี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจกระโดนมาร่วมเล่นด้วยก็ไม่แน่
เพราะแม้ปากจะบอกว่า อยากอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ทว่าทุกคนต่างรู้ดีว่า สมคิด ไม่มีทางทิ้งสนามการเมืองไปได้
อุตตม กล่าวไว้เมื่อครั้งเปิดตัว สถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation โดยบอกว่า “วันนี้ผมเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมาสื่อสารกับทุกท่านอีกครั้ง คนไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ วิกฤตโควิด คือเรื่องเฉพาะหน้าที่เราต้องร่วมกันจัดการสถานการณ์ให้ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าอย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตของประเทศ เช่น การคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะที่สั่งสมมานานเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและความก้าวหน้าของคนไทย รวมถึงการสร้างสรรค์นโยบายการพัฒนาประเทศที่เกิดประโยชน์สูงสุดครอบคลุมทุกภาคส่วน“
จะเห็นว่าอุตตม พยายามนำพาตัวเองเข้ามามีบทบาทในทางสังคมมากขึ้น
จึงเชื่อว่า อีกไม่นานสถาบันอนาคตไทยศึกษา Thailand Future Foundation จะมีบทบาทในการเสนอแนะ แสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ก่อนที่ “อุตตม” จะประกาศเปิดตัวพรรคใหม่ในเวลาต่อมา