ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ อย่ามองเราเป็นแค่สีสัน หรือตัวตลก
ครูไม่ชอบคำว่าเราเป็นเพียงสีสันในสภาหรือเป็นตัวตลกในสภา เพราะมันเป็นจุดที่ทำให้คนมองไม่เห็นสาระสำคัญในสิ่งที่เราต้องการจะทำ
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ หรือ ครูธัญ หนึ่งใน ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศจากพรรคก้าวไกล
เข้ามาเป็น ส.ส.ด้วยความมุ่งมั่นเป็นปากเสียงของคนทำงานกลางคืน ศิลปิน นักแสดง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
ในอดีตเธอเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นให้กับศิลปินแกรมมี่ (GMM) เป็นผู้ออกแบบท่าเต้น ผู้กำกับ Creative Director ให้กับ True Fantasia และ เป็น Commentator รายการ The Trainer ออกแบบการแสดงให้กับรายการโทรทัศน์ ช่อง 3 มากมาย
ครูธัญ เล่าประวัติตัวเองคร่าวๆว่า เริ่มต้นจากการเป็นนักเต้น ก่อนที่จะมาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น โดยออกแบบท่าเต้นให้กับศิลปินหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ , ทาทา ยัง , ใหม่ เจริญปุระ , 2002 ราตรี จากนั้นจึงมาทำ True Fantasia ก่อนที่ช่วงหลังๆ จะได้มาเป็น Commentator
ธัญวัจน์ บอกว่า แต่เมื่อทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ก็พบว่าศิลปิน นักแสดงของเมืองไทยนั้น ไม่ต่างจากชาวนา
โดยยกตัวอย่างเช่นเพลงเป็นสินทรัพย์ แต่เจ้าของเพลงกลับไม่มีสิทธิในสินทรัพย์ของตัวเอง ดังนั้น จึงสามารถเทียบได้ว่าดารานักแสดงบ้านเรา ก็แค่เล่นไปตามบท ร้องเพลงตามที่องค์กรใหญ่ต้องการ
เช่นเราจะจ้างใครสักคนแต่งเพลง ลิขสิทธิ์เพลงควรจะเป็นของผู้แต่ง และค่ายควรจะมีหน้าที่เพียงเอาไปเผยแพร่เท่านั้น แต่เมืองไทยกลับกลายเป็นว่า มีการกึ่งบังคับเซ็นต์มอบลิขสิทธิ์เพลงให้ค่าย ทุกอย่างจึงอยู่ที่นายทุน ย้ายออกไปเมื่อไหร่ คุณจะร้องเพลงของตัวเองไม่ได้
ธัญวัจน์ กล่าวว่า ด้วยเหตุผล จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงให้คนทำงานศิลปะ ให้คนเหล่านั้น สามารถสร้างสรรค์ผลงานดีๆแก่สาธารณชน
“มันไม่ได้มีแค่รัฐบาล ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนชน เรื่องนี้ทำให้เราจะเห็นว่า ดาราเองยังไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เพราะต้องยอมจำนนกับอำนาจของนายทุน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสัมปทานรัฐ”
ครูธัญ เป็น ส.ส.คนหนึ่งที่ผลักดันประเด็น LGBTQ อย่างเข้มข้น โดยมีเป้าประสงค์หลัก คือเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม โดยได้เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
เธอ ยอมรับว่า ก้าวแรกของการเป็น ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่ง่าย เพราะถูกมองว่าไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นการมองข้ามศักยภาพ และความสามารถของคนๆหนึ่งอย่างสิ้นเชิง
“มาสภาตอนแรกก็ถูกมองว่า กระเทยต้องมีภาพลักษณ์แบบนี้แบบนั้น ยอมรับว่าตอนแรกที่เข้ามานั้น นักข่าวก็จะมองแค่เรื่องของเสื้อผ้า จะไม่ถามว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร กับเรื่องงบประมาณหรือการกู้เงิน เป็นต้น ครูไม่ชอบคำว่าเราเป็นเพียงสีสันในสภาหรือเป็นตัวตลกในสภา เพราะมันเป็นจุดที่ทำให้คนมองไม่เห็นสาระสำคัญในสิ่งที่เราต้องการจะทำ”
“กระแสสังคมบางส่วนที่มองการแต่งกายของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีความเหมาะสมในการเข้าสภาถูกเอามาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย หลายคนเข้าใจความหลากหลายดี แต่ก็มีคนมองว่าเป็นเรื่อง ตลก ไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาละเทศะ น่าแปลกใจมากที่เรายังมีเสียง หัวเราะแห่งความเหยียดหยามให้กับคนที่แสดงตัวตนอย่างตรงไปตรงมา”
ธัญวัจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องอาศัยความพยายามในการนำเสนอสาระสำคัญต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าผู้ชายหรือผู้หญิงธรรมดา เพราะเป็นเพศที่คนให้การยอมรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นานวันเข้า คนเริ่มให้การยอมรับในสิ่งที่เธอเสนอ โดยได้รับคำชื่นชมจาก ส.ส.หลายคน ที่เห็นว่าสิ่งที่พูดนั้น เป็นประโยชน์
“วันนี้ประเทศไทยมีการพูดถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และดูเหมือนว่า LGBTQ ถูกยอมรับมากขึ้น แต่มันก็ยังมีอคติอยู่”
“สิ่งที่อยากได้มากที่สุด คือ LGBTQ ต้องการความเป็นคน เราจึงมีความพยายามแก้ไขกฎหมายการสมรสอย่างเท่าเทียม เราเรียกร้องความเท่าเทียม ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องเหนือกว่าใคร เราพยายามจะเปลี่ยนการสมรส ที่ไม่เฉพาะชายหญิง แต่เป็นการสมรสได้ทุกเพศ ไม่มีกรอบจำกัด ไม่มีอะไรเป็นตัวกำหนด ซึ่งจะทำให้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการจากราชการ สิทธิในการฟ้องร้อง เราต้องการสิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ คำว่าคู่สมรสนั้น ถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายสวัสดิการ ประมวลกฎหมายรัษฎากร การลดหย่อนภาษี สวัสดิการเอกชน และของราชการ ดังนั้น คำว่าสมรสจึงมีความสำคัญ”
เธอ เห็นว่า สังคมไม่ควรผูกขาดเฉพาะความเป็นชายกับหญิง แต่ควรเปิดกว้างถึงความหลากหลาย เพราะการผูกขาดคือการหยุดเศรษฐกิจไม่ให้เกิดการกระจายตัว เธอจึงต้องการความเท่าเทียมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เศรษฐกิจ โอกาส การศึกษาและระบบรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียม
“วันนี้ได้มีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่การทำงานในรัฐสภา พรรคได้เปิดโอกาสในฝันที่คิดว่าไกลเกินตัวที่จะกลายเป็นจริงได้ คิดว่ามันถึงเวลาของประเทศไทยที่จะเปิดกว้างทางความคิด และโอบรับความหลากหลาย ให้รัฐมีหน้าที่ปกป้อง และ คุ้มกันคนที่อยู่ประเทศจากการกดขี่ทุกรูปแบบ ให้เขาได้โบยบินให้ไกลอย่างไม่จำกัด และนั่นคือความคิดที่ไทยจะก้าวหลุดออกจากวังวนเดิมๆ”