มหิดลบีซีไอแล็บคว้ารองแชมป์โลก Cybathlon 2020
มหิดลบีซีไอแล็บ จากประเทศไทยคว้ารองแชมป์โลก รางวัลเหรียญเงิน ใน Cybathlon 2020 ประเภท BCI คลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ แค่คิด…ก็ขับรถได้
ศักยภาพของคนไทยแสดงให้โลกประจักษ์อีกครั้ง…เมื่อทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) โดย เกรียงไกร เตชะดี หนุ่มพิการผู้แข่งขัน (Pilot) จากประเทศไทย คว้าเหรียญเงิน จากการแข่งขันไซบาธอน2020 (Cybathlon) ประเภทคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งรถ (BCI) แค่คิด…ก็ขับรถแข่งได้ ทำสถิติเวลา 2 นาที 56 วินาที เฉือนอิตาลี ผู้ชนะเลิศไปเพียง 4 วินาทีเท่านั้น ภายใต้การริเริ่มสนับสนุนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาทีมมหิดล บีซีไอแล็บ กล่าวว่ารางวัลเหรียญเงินนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยบนเวทีโลก พลังการทำงานเป็นทีมและแสดงความก้าวหน้าในเทคโนโลยี BCI หรือสัญญาณสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเราไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เลยศักยภาพของผู้พิการมิใช่เพียงเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เราสามารถยกระดับให้เป็นผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อผู้พิการได้ด้วย ไซบาธอน (Cybathlon) จัดทุก 4 ปี เปรียบเสมือน “โอลิมปิกทางเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ” โดยทีมนวัตกรจากทั่วโลกได้มาประลองการออกแบบนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสำหรับผู้พิการ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์และมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BCI คลื่นสมองเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ในการควบคุมสั่งการต่างๆ สรีระอุปกรณ์ แขนเทียม ขาเทียม หุ่นยนต์ช่วยเดินหรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจ ความเป็นมาของ Cybathlon จัดครั้งแรกในปี 2016 และครั้งนี้ Cybathlon 2020 จัดโดยเจ้าภาพเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 77 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก
เกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) หนุ่มพิการตั้งแต่คอลงมา วัย 26 ปี ทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ผู้คว้ารองแชมป์โลกใน ประเภทควบคุมการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Race: BCI)กล่าวว่า การแข่งขัน Cybathlon 2020 ครั้งนี้ มีรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมากครับ ที่คว้าเหรียญเงินมาได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับแก่นานาชาติ เทคนิคในการควบคุมรถ ในการแข่งของผม คือ มีสติ ความเชี่ยวชาญและใช้สมาธิ ให้คลื่นสมองควบคุมรถแข่งเคลื่อนที่สู่เป้าหมายในระยะทาง 500 เมตร ภายในเวลา 4 นาที เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา และเปิดไฟตามต้องการ สมาธิของผมอาจแปลกกว่าคนอื่น ตรงที่บรรยากาศรอบตัวไม่ต้องเงียบสงัด ผมชอบให้มีการเคลื่อนไหวบ้างเป็นปกติ ก็สามารถใช้สัญญาณสมองและคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งรถได้ดี การได้รางวัลครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานทุกคน ที่ทำงานหนักและร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่ง Cybathlon เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากจะเป็น Developer หรือ โปรแกรมเมอร์ครับ เพื่อจะได้นำประสบการณ์และความรู้จาก Cybathlon มาพัฒนาสิ่งที่ใช้งานได้จริงสำหรับผู้พิการในประเทศไทยต่อไปครับ
พงศกร เวชการ ผู้จัดการ ทีมมหิดลบีซีไอแล็บ และนักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติไทยประสบผลสำเร็จบนเวทีโลก มาจาก 3 ประการคือนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ออกแบบมามีประสิทธิภาพและเหมาะสมใช้งานได้จริง, ผู้แข่งขันมีทักษะความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสมรรถนะของทีม ในงาน Cybathlon นอกจากจะได้มาประลองนวัตกรรมใหม่ๆ จากนานาประเทศแล้ว ยังเป็นที่พบปะของนวัตกร, ผู้ใช้และผู้ผลิตด้วย เช่น มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้แขนเทียม อยากให้นักวิจัยและผู้ผลิตปรับลดเสียงตื้ด ๆ ที่เกิดจากการทำงานของมอเตอร์แขนเทียม นอกจากนี้ Cybathlon 2020 ไม่ได้มุ่งเทคโนโลยีที่เกินจริง Hi-Tech หรือ Low-Tech แต่มุ่งสร้าง Right Tech คือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงและเกิดประโยชน์จริง เบื้องหลังการแข่งขัน Cybathlon แต่ละประเทศ คือทีมงานจากหลายสาขาที่ทำงานหนักร่วมกัน ตั้งแต่นักวิจัย นวัตกร วิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ จนถึงนักกายภาพ นับเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนอนาคตและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตในสังคมไทยและสังคมโลก
Cybathlon ได้สร้างความฮือฮาให้โลกโดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยใหม่ๆเพื่อช่วยให้ผู้พิการและผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใช้กับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้พิการจากโรคภัยและการบาดเจ็บ ทั้งนวัตกรนักวิจัยได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยี โดยหลังการแข่งขันไซบาธอนจบ 1 ปี จะมีการเผยแพร่องค์ความรู้ส่วนหนึ่งออกสู่สาธารณะอีกด้วย