เดลต้าต้อนรับ EEC-HDC ร่วมฝึกอบรมภาคอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ 4.0
เดลต้าต้อนรับประธาน EEC-HDC ร่วมมือเพื่อพัฒนาการฝึกอบรมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโซลูชันด้านอุตสาหกรรม 4.0 ของเดลต้าและมองหาโอกาสความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
5 พฤศจิกายน 2563 – บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพต้อนรับกลุ่มตัวแทนนำโดย ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center หรือ EEC-HDC) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโซลูชันด้านอุตสาหกรรม 4.0 ของเดลต้าและมองหาโอกาสความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
แจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร เดลต้า ประเทศไทย ได้ต้อนรับ ดร. อภิชาตและคณะ เพื่อเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของเดลต้าในนิคมอุตสาหกรรมบางปู พร้อมแนะนำการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาของเดลต้าในประเทศไทยเอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานของเดลต้าในไทยก่อนจัดจำหน่ายไปทั่วโลก โดยนายแจ็คกี้ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการขยายฐานการผลิตของเดลต้าภายในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านการมอบความรู้และฝึกอบรมภาคอุตสาหกรรม
จากนั้น คณะผู้อำนวยการธุรกิจของเดลต้าได้กล่าวแนะนำโซลูชันด้านระบบอัตโนมัติ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อส่งเสริมนโยบายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยนายยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายรัฐบาลและกิจสาธารณะของเดลต้า ได้แนะนำโครงการเดลต้าออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) ที่จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ และโครงการแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Delta Angel Fund) ที่มุ่งสนับสนุนสายอาชีพวิศวกรและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในไทย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร. อภิชาต ได้แสดงความสนใจในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมของเดลต้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์และโซลูชันอันหลากหลายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และได้นำเสนอภาพรวมของแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการศึกษา (EEC Model Education System) ที่เน้นปรับโครงสร้างพื้นฐานการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในอีอีซี ให้เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา และพันธมิตรในอุตสาหกรรมทางธุรกิจจำนวนมาก
นอกจากนี้ ดร. อภิชาตยังเน้นย้ำถึงปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะความชำนาญเหมาะสมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าต้องมีบุคลากรหมุนเวียนจำนวนกว่า 470,000 คนภายใน 5 ปี ข้างหน้า ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเต็มกำลัง โดยมีวัตถุประสงค์เร่งการฝึกอบรมและยกระดับมาตรฐานการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่ง ดร. อภิชาตได้มอบหมายให้จัดตั้งทีมพิเศษสำหรับโครงการความร่วมมือกับเดลต้า และมองหาโอกาสให้เดลต้าได้มีบทบาทเป็นศูนย์ฝึกอบรมแก่บุคลากรในอีอีซี
หลังจากเสร็จสิ้นช่วงหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติของเดลต้ายังได้นำเสนอโซลูชันการผลิตอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมต่างๆ แก่ตัวแทนจาก EEC-HDC ณ บริเวณโถงจัดแสดงของบริษัท
ในปีนี้ เดลต้าและมหาวิทยาลัยบูรพายังได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาเกณฑ์ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากรและแรงงานในอีอีซี ซึ่งในปี 2562 ทั้งสองเคยเซ็นเอ็มโอยูเพื่อมอบโปรแกรมฝึกอบรมด้านระบบอัตโนมัติขั้นสูงเป็นครั้งแรกในอีอีซี นอกจากนี้ เดลต้ายังมีห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่มาพร้อมชุดฝึกอบรมระบบอัตโนมัติขั้นสูง 12 ชุด สำหรับใช้ในการฝึกสอนเหล่านิสิตนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยบูรพาอีกด้วย