“บีไอจี” จับมือ “วิศวะ จุฬา” ลงนาม Carbon Management Platform
บีไอจี จับมือ วิศวะ จุฬาฯ ลงนามความร่วมมือในการจัดการตรวจสอบและวิเคราะห์แนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้งานและการบำรุงรักษาพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้ Carbon Management Platform ที่พัฒนาโดยบีไอจี ยกระดับการบริหารจัดการพลังงานในสถาบันการศึกษา พร้อมร่วมกันศึกษาการนำ Climate Technology มาใช้ประโยชน์นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เป็นผู้ลงนาม โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบีไอจี ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคสถาบันการศึกษา
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณะบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาวิจัย รวมถึงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจุฬาฯ ประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) รวมถึงคณะวิศวะฯ เป็นหนึ่งในสองคณะในจุฬาฯ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร จึงได้ร่วมมือกับบีไอจีในการนำนวัตกรรมรวมถึง Platform ที่ช่วยในการวางแผนและติดตามเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบ Carbon Management Platform ที่บีไอจีพัฒนาขึ้น มาใช้งานร่วมกับ Platform ที่ทางคณะฯ และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) ได้พัฒนาขึ้น มาใช้งานในคณะวิศวะฯ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากใช้พลังงานในอาคารต่างๆ ภายในคณะ”
คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวเพิ่มเติม “บีไอจี ในฐานะผู้นำนวัตกรรมด้าน Climate Technology และเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเป็นบริษัทในเครือแอร์โปรดักส์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนระดับโลก บีไอจีจึงตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Management Platform เพื่อใช้จัดการ ตรวจสอบและวิเคราะห์การปล่อยคาร์บอนฯ พร้อมนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับภาคการศึกษาเป็นครั้งแรกในการตรวจสอบการใช้งานและการบำรุงรักษาพลังงาน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้งาน Carbon Management Platform จากบีไอจีนั้น สามารถนำไปวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของบีไอจีที่จะสร้างอนาคตที่สะอาดตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ GENERATING A CLEANER FUTURE ร่วมกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : GC จับมือ บีไอจี ร่วมผลักดันเศรษฐกิจไฮโดรเจน ครั้งแรกในประเทศไทย