สกพอ. ผลักดันการเคารพ สิทธิแรงงาน ในพื้นที่อีอีซี
สกพอ. ร่วม MOU ม.บูรพา สำนักงานฯ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขับเคลื่อนกลไกเคารพสิทธิแรงงาน เพิ่มมิติผลักดันการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ รองศาสตราจารย์วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีอีซี นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ กสม. และผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุรัตน์ อนันทนาธร รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ร่วมเป็นพยาน เพื่อประสานความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติภารกิจด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ประกอบการพื้นที่อีอีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำคัญ เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระหว่าง สกพอ. ม.บูรพา และสำนักงาน กสม. รวมทั้งองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนในการส่งเสริมและเคารพสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ประกอบในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งจะสนับสนุนการศึกษา วิจัย การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับสังคม และการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เพิ่มศักยภาพในมิติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิทธิแรงงาน สร้างความสามารถในการแข่งขันรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ MOU ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานดังกล่าว ในการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อีอีซี อาทิ ส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือ ผลักดันการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน และพัฒนาหรือขยายเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน โดยการสร้างเครือข่ายองค์กรธุรกิจต้นแบบภาคตะวันออกที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการบริการทางวิชาการและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี