เปิดความก้าวหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’
ผู้ว่าฯ สระบุรี ผนึกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กางแผนต่อยอดขับเคลื่อนความก้าวหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ (Saraburi Sandbox) เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และชุมชน
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นการดำเนินงานในรูปแบบความร่วมมือ Public-Private-People Partnership (PPP) และมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ นับแต่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเมื่อเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา
“กลไกสำคัญในการทำงานมาจากภาคเอกชน ส่วนภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน ทุกฝ่ายร่วมกันคิด จากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะทำงานมาช่วยกันทำ ผ่านโครงการต้นแบบต่างๆ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวและใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัดสระบุรี การกำจัดวัสดุไม่ใช้แล้วและของเสียด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น การดำเนินโครงการลักษณะนี้ให้สำเร็จ ต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันดำเนินการ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ อาจมีกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ การมีโครงการต้นแบบเหล่านี้มากๆ จะเป็นตัวอย่าง จะทำให้เห็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องใดที่ติดขัดต้องหาแนวทางแก้ไขหรือทางออกที่ดีต่อไป เช่น การเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎระเบียบให้เหมาะสม ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานกลางของรัฐ” ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าว
ในขณะนี้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ กำลังเดินหน้าทำงานที่ท้าทาย โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ โดยพบว่า มีความตื่นตัวสูงในการร่วมกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง ทั้งภาคความรู้ รวมถึงภาคปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission
นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า TCMA ในฐานะสมาคมด้านอุตสาหกรรมที่เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี จึงเป็นสาขา (Sector) ที่จะมีส่วนสนับสนุนสำคัญต่อการดำเนินงานพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’
TCMA ส่งเสริมสมาชิก ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย เข้ามาร่วมกันดำเนินการ ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการใช้กลไกการสนับสนุนจากระดับนานาชาติ เชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมืองของจังหวัดสระบุรี ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
การดำเนินงานของ TCMA ครอบคลุมด้านหลักๆ ดังนี้ 1) การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด เพื่อลดการปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้นซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งาน 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง 3) การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลดของเสีย (Waste) จากการก่อสร้าง 4) การวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ประมาณ 9 – 12 ล้านตัน CO2 /ปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 5) การวิจัยและพัฒนา Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลด CO2 เนื่องจากยังมี CO2 ที่ยังเหลืออยู่จากกระบวนการต่าง ๆ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งโครงการ CCUS ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และเงินทุนทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาและวิจัย
นายชนะ นายก TCMA กล่าวย้ำตอนท้ายว่า “TCMA พร้อมสนับสนุนจังหวัดสระบุรี รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องจริงจังดำเนินงาน PPP-Saraburi Sandbox การรวมพลังความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ได้ผลลัพธ์แบบ win-win-win เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย”