“วิกรม“ เชิดชู “โบตั๋น” รับรางวัลนักเขียนประจำปี 66 ให้คุณค่านักเขียน อมตะ
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/11/S__2483271-1024x768.jpg)
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ (AMATA FOUNDATION )ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประกาศผลรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566” ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ประกาศยกย่อง “สุภา สิริสิงห”นามปากกา “โบตั๋น” ได้รางวัล “นักเขียนอมตะ”ด้วยผลงานเชิงสร้างสรรค์นับ 100 เรื่อง สะท้อนถึงปัญหาสังคม ผู้หญิง เด็กและเยาวชน เพื่อให้ตระหนักถึงสถาบันครอบครัวที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ผลงานได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/11/IMG_9681_0-1024x683.jpg)
ผมคิดว่าการมอบรางวัลครั้งนี้ ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบในผลงานอันทรงคุณค่า ซึ่งคนที่จะได้รางวัลนักเขียนอมตะคือ ไม่ใช่ต้องเป็นคนที่มีอายุมากเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้นักเขียนทุกท่าน ที่รังสรรค์ผลงาน และสร้างคุณค่าที่เกิดขึ้นให้กับสังคม รางวัลที่มูลนิธิมอบให้ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเขียน ได้ประพันธ์ผลงานใหม่ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมในทางที่ดีขึ้น แต่เรามีผลงานเป็นเกณฑ์ในการประเมิน เพราะเดี๋ยวนี้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ มีผลงานเร็ว เยอะ และมีคุณภาพมาก ตรงนี้ก็จะทำให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นนักเขียนอมตะได้เช่นกัน
นายวิกรม กล่าวต่อว่า ยุคนี้คนรุ่นใหม่เขาทำอะไรได้เก่งมาก เร็วกว่าและดีกว่าคนรุ่นเก่าในช่วงอายุที่เท่ากัน ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนตอนผมอยู่มหาวิทยาลัย เราก็คิดว่าเราแจ๋ว แต่วันนี้พอกลับไปดูเด็กรุ่นใหม่ๆ เราก็พบว่าคนรุ่นใหม่ก็มีแนวคิด และมุมมองที่แตกต่างดังนั้นเราก็เปิดเวทีให้ไม่จำกัดอายุ เพราะเราเอาเรื่องของผลงานมาเป็นที่ตั้ง
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/11/IMG_9473_0-1024x683.jpg)
“สำหรับตัวผมเอง จุดเร่ิมต้นของการเขียนหนังสือของผม คือ การเผยแพร่สิ่งที่ผิดพลาดในชีวิตแล้วก็ทำมาเป็นหนังสือ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ความผิดพลาดในชีวิตให้กับคนที่เขากำลังเดินทางไปสู่อนาคตให้ยั่งยืนเหมือนกับตอนที่เราเป็น และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ผ่านงานเขียน มาทำให้เป็นประโยคที่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ฉะนั้น คนที่จะมาเป็นนักเขียนไม่จำเป็นต้องเรียนวรรณกรรม วรรณศิลป์ ประเด็นอยู่ที่ เรามีของหรือไม่ มีประโยชน์ไหม แล้วของนั้นต้องเป็นจริง ไม่ใช่แบบว่าเขียนในสิ่งที่มันไม่เป็นจริงเพราะทุกอย่างมันก็ต้องยืนอยู่ด้วยความเป็นจริงนอกจากเป็นจริงแล้วจะต้องเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเรื่องจริงแต่เป็นประโยชน์ มาสร้างความแตกแยก มันไม่ควร เพราะสังคมไทยวันนี้มีคนประเภทนี้เยอะ ถ้าเรามีกฎเกณฑ์ เรามีหลักการ เป็นจริง เป็นประโยชน์ แล้วก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทุกคน ผมว่าทุกคนทำได้“
เมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะทำต่อจากนี้ นายวิกรม กล่าวว่า ตอนนี้ผมทำ E-Book แจกให้ฟรีหมดเลย ประมาณ 20 กว่าเล่ม ซึ่ง E-Book ไม่ต้องมีภาระใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผมกำลังทำหนังสือเสียง อย่างเวลาเราขับรถก็สามารถเปิดหนังสือเสียงฟังไปด้วยได้ โดยไม่ต้องเสียสายตา วันนี้ผมต้องแบ่งปันประสบการณ์ความรู้และแบ่งปันทรัพย์สินที่เรามี เงินในกระเป๋าถ้าเราไม่ได้ใช้มันก็ไม่ใช่ของเรา ผมไม่มีความคิดที่ไปแจกคน ถ้าใครมาขอเงินขอทอง ไม่ต้องเสียเวลาขอจากผม เพราะผมจะเอาไปให้กับคนที่ใช้ความรู้อย่าง นักเขียน และให้ทุนการศึกษาเพราะว่าปัจจุบันมีเด็กอัจฉริยะเยอะมาก แต่เขาไม่มีทุนทรัพย์ เรามีรางวัลนักเขียนอมตะแล้ว ไปสู่ด้านทุนการศึกษาอมตะ คนที่อยากจะเรียนก็ส่งไปเรียนหนังสือ ต่อไปอมตะยังมีงานที่ให้เขาทำได้อีก เพราะมีโรงงาน 1,500 โรง เรารับเขาทำเข้ามาทำงาน ส่วนนวัตกรรมก็เหมาะกับคนที่ความคิด มีฝีมืออะไรใหม่ๆ อันนี้เราก็ต้องสนับสนุนเขา
นอกจากนี้ ผมยังไม่หยุดนิ่งที่จะค้นหาประสบการณ์ใหม่ หาความรู้ เปิดโลกกว้าง ซึ่งจะเห็นว่าตลอด 3 ปี ของการเดินทางคาราวาน ไปแสนกว่ากิโลเมตร แล้วก็มีความสุขกับการที่ได้เรียนรู้ ได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรม ชนชาติ ได้ไปทดลองอาหารอร่อย ๆ แล้วได้เจอคนที่เขามีความคิดที่ไม่เหมือนกับเรา สิ่งสำคัญที่สุด ผมอยากให้คนไทยรู้ว่า เราเกิดในประเทศที่มีน้ำ มีปลา ในนามีข้าว ไม่มีหิมะตก ไม่มีแผ่นดินไหวไม่มีไต้ฝุ่นเข้า เราโชคดี แต่คนหลายๆคนไปเชื่อดวง เชื่อโชค และไม่ต่อสู้เพื่อตัวเอง ผมมีความฝันว่า หากได้เดินทางไปไกล ๆ ก็จะได้ เอาประสบการณ์ และความรู้ พร้อมส่งต่อให้กับคนไทย ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีความฝัน ให้มีความอยากที่จะทำอะไรให้กับสังคม และประเทศ เพื่อพัฒนาให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผมอยากให้ทุกคนมองโลกเป็นโอกาสที่เราได้เรียนรู้”