ดีพร้อม ปลื้ม 12 ต้นแบบ ใช้โมเดล BCG Economy

ดีพร้อม ปลื้ม 12 ต้นแบบ ใช้โมเดล BCG Economy ยกระดับการผลิต เล็งขยายผลต่อยอด 250 ชุมชนทั่วประเทศ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ “ดีพร้อม” โชว์ศักยภาพ 12 ต้นแบบโมเดล BCG Economy สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 6 ล้านบาท พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการชุมชนต่อยอดสร้างเครือข่าย ขยายโอกาสเติบโตและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการตามรอย ตลอดจนเปิดเวทีเสวนาต่อยอดองค์ความรู้ “แนวทางการยกระดับและต่อยอดอุตสาหกรรมชุมชน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชุมชนอย่างยั่งยืน”

นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการมุ่งเน้นปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใหม่ โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศจากความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำชุมชน สร้างโอกาสและความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง ตามรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ประกอบกับนโยบาย “MIND” ของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนา “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” และการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่สู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิต และโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้ขานรับนโยบายข้างต้น จึงเร่งหาแนวทางการยกระดับผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโต รวมทั้งผลักดันให้ประชาชนและชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ผ่าน การเพิ่มศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมชุมชนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกล “ดีพร้อม 4 โต” คือ โตให้ยั่งยืน (Sustainable) ที่มุ่งสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน พร้อมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ลดปริมาณของเสียในระบบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างความเติบโตของธุรกิจบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนได้

นายวัชรุน กล่าวต่อว่า กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและการผลิตอุตสาหกรรมชุมชนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดขึ้นภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้เกิดการสร้างเครือข่าย เจรจาธุรกิจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถต่อยอดและพัฒนาจนสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจพร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายอื่นเกิดการยกระดับศักยภาพการผลิตตามแนวคิด BCG Economy ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการต้นแบบชุมชนดีพร้อม 12 ชุมชน ทั่วประเทศได้รับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผ่านโมเดล BCG Economy ของดีพร้อม อาทิ 1. ชุมชนบ้านสรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งดีพร้อม ได้เข้าไปช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตในขั้นตอนการต้มเทียนทําให้สามารถรักษาอุณหภูมิในการใช้งานให้ดีขึ้น ส่งผลให้สามารถลดของเสียในกระบวนการผลิตปั๊มลายผ้าบาติกได้กว่าร้อยละ 66 2. ชุมชนบ้านเดื่อ จ.หนองคาย ได้พัฒนากระบวนการผลิตโดยการเปลี่ยนถังหมักไวน์จากรูปแบบที่จะต้องคลายฝาเกลียวเพื่อระบายคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตนเอง เป็นระบบปิดที่มีอุปกรณ์ระบายคาร์บอนไดออกไซด์ในตัว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่าร้อยละ 54 และ 3. ชุมชนบ้านตม จ.ชลบุรี มีการพัฒนากระบวนการสกัดสมุนไพร โดยการใช้เตาไฟฟ้าแทนการใช้เตาฟืน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนระจก และสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36 นอกจากนี้ ยังมีอีก 9 ต้นแบบชุมชนดีพร้อม ได้แก่ 1. ชุมชนอินทร์โตฟาร์ม จ.อ่างทอง 2. ชุมชนบ้านหนองเหงือก จ.ลำพูน 3. ชุมชนบ้านเมืองเก่า จ.สุโขทัย 4. ชุมชนบ้านนาเชือก จ.สกลนคร 5. ชุมชนบ้านสนวนนอก จ.บุรีรัมย์ 6.ชุมชนบ้านนาหมอม้า จ.อำนาญเจริญ 7. ชุมชนบ้านแหลม จ.สุพรรรบุรี 8. ชุมชนบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี และ 9. ชุมชนบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี

“สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อจัดแสดงศักยภาพของทั้ง 12 ชุมชนต้นแบบโมเดล BCG Economy ที่จะสะท้อนให้เห็นการยกระดับและพัฒนากระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 6 ล้านบาท นอกจากนี้ การเสวนาให้องค์ความรู้แก่ผู้ที่มาร่วมงานในหัวข้อ “แนวทางยกระดับและต่อยอดอุตสาหกรรมชุมชน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน”จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมและเป็นจุดตั้งต้นให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถต่อยอดในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพธุรกิจได้ ซึ่งดีพร้อมยังคงพร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผลักดันผู้ประกอบการให้ “โตได้ ไตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” โดยนำต้นแบบ 12 ชุมชนดีพร้อมที่ได้นำร่องในครั้งนี้ ไปขยายผลสู่ชุมชนดีพร้อม 250 ชุมชน ผ่านกลไกดีพร้อมเซ็นเตอร์ที่ครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป” นายวัชรุน กล่าวทิ้งท้าย