ตลาดคาร์บอนไทยกับความท้าทายสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยกำลังเป็นที่จับตามอง แม้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะมุ่งดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนที่ไม่สามารถลดได้อยู่ คาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net zero
ภายใต้กระแสที่มาแรงของตลาดคาร์บอนเครดิตไทย ซึ่งเป็นตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ยังมีความเสี่ยงของตลาดที่ต้องเผชิญ ในหลายประการ ก่อนที่ผู้ลงทุนจะทำการซื้อ/ขายคาร์บอนเครดิต โดยมีความเสี่ยง ทั้งทางด้านอุปสงค์ อุปทาน ราคา และช่องทางในการซื้อ/ขาย เป็นต้นความเสี่ยงทางด้าน Demand จากความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากคาร์บอนเครดิตที่มีลักษณะเป็นภาคสมัครใจไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ผู้ซื้อใช้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มุ่งเน้นในด้านการทำโครงการลดการปล่อยคาร์บอนก่อนความเสี่ยงทางด้าน Supply อันเนื่องมาจากตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเป็นไปในลักษณะที่เหมาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย และยังมีความไม่แน่นอน ความไม่สมํ่าเสมอของปริมาณการซื้อขาย ประกอบกับตลาดยังอยู่ในช่วงการพัฒนา จึงทำให้การซื้อขายเป็นไปในลักษณะผู้ซื้อ และผู้ขายตกลงกันเองความเสี่ยงทางด้านราคา เนื่องจากตลาดยังอยู่ในช่วงการพัฒนาไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน เช่น และตลาดคาร์บอนไทยยังไม่มีระบบในการรักษาเสถียรภาพของ Demand และ Supply ดังนั้น ความผันผวนด้านราคา หรือโอกาสที่ราคาคาร์บอนจะตกตํ่า จึงมีความเป็นไปได้ผู้มีความสนใจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ควรศึกษาข้อมูลประกอบการลงทุน ด้านคาร์บอนเครดิตด้วยวิธีต่าง ๆ และเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาท ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น พร้อมกับมองหาทางเลือกอื่นเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net zero ที่ยั่งยืนต่อไป
การใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชย (Offset) การปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยให้เป็นศูนย์ได้ เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมาย Net zero ได้
ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2015 เกือบ 200 ประเทศได้รับรองเป้าหมายระดับโลกในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยไว้ที่ไม่เกิน 2.0 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม หากโลกจะบรรลุเป้าหมายนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องลดลง 50% ของระดับปัจจุบันภายในปี 2030 และลดลงเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2050
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีปัจจุบันนั้นมีต้นทุนในการลงทุนสูง แม้ว่าต้นทุนของเทคโนโลยีเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงตามเวลา แต่ในบางธุรกิจ ไม่สามารถกำจัดได้คาร์บอนได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การผลิตปูนซีเมนต์ในระดับอุตสาหกรรมมักเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีการเผาไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการปล่อยคาร์บอนในภาคซีเมนต์ เป็นต้นการซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นวิธีหนึ่งสำหรับบริษัทในการจัดการกับการปล่อยมลพิษที่ไม่สามารถกำจัดได้ คาร์บอนเครดิตเป็นใบอนุญาตชนิดหนึ่งที่แสดงถึงคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันที่ถูกดึงดูดออกจากชั้นบรรยากาศ (Removal) หรือคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันที่ไม่ถูกปล่อย (Avoidance) โดยผู้ปล่อยคาร์บอนสามารถซื้อ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจได้
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนทั่วโลกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ตลาดคาร์บอนบังคับ (Compliance market/Mandatory market/Regulated market) : ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือสอดคล้องกับความมุ่งมั่นระหว่างประเทศ หากไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ หรือหากปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย จึงมีความเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้อย่างมาก
ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) : ตลาดที่สร้างขึ้นโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายตลาดมักจะจัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือโดยสมัครใจในภาคเอกชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เข้าร่วมในตลาดอาจมีเป้าหมายของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจซึ่งมีเป้าหมายที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และดำเนินการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตและค่าเผื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชดเชย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหลายมาตรฐานของคาร์บอนในตลาดนี้
สำหรับในบทความนี้จะพูดถึงตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจเท่านั้น เนื่องจากไทยดำเนินการในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization : TGO) ได้ริเริ่มการให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) ขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ
ถึงแม้ว่าตลาดคาร์บอนจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดคาร์บอนเครดิตยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายด้านที่สำคัญดังนี้
ความเสี่ยงด้าน Demand : ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย ยังขาดความต้องการที่ชัดเจน
Demand ของคาร์บอนเครดิตของไทย ยังเป็นไปในลักษณะเพื่อความสมัครใจ Voluntary Carbon Markets (VCMs) ด้วยความเป็นตลาดภาคสมัครใจ จึงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนอื่น ๆ นอกเหนือจากกฎระเบียบในการทำให้เกิดความต้องการใช้ เช่น เทรนด์ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม หรือความต้องการอยู่ใน Supply chain ของลูกค้าที่มีความให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
ณ ปัจจุบันแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือเป้าหมาย Carbon neutrality และ Net zero ขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศโดยกว่า 28 บริษัทในไทยได้ตั้งเป้าหมายCarbonneutrality/Net zero แล้ว ซึ่งจะทำให้ Demand คาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตที่มีลักษณะเป็นภาคสมัครใจไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ผู้ซื้อใช้ การชดเชยคาร์บอนของผู้ประกอบการไทยเกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมทางธุรกิจก่อน เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุ หรือวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทน หรือการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดก่อน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนในระดับสูงย่อมคิดค้นเทคโนโลยีและหาวิธีในการลดการปล่อยคาร์บอนที่มีความยั่งยืนมากกว่าการซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นครั้ง ๆ ไป เช่น สมาคมอุตสากรรมปูนซีเมนต์ไทย เร่งนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก.2594 ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เข้าสู่การใช้งานแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ทั้งหมด ในปี 2023 ซึ่งจะทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 122 ล้านต้น โดยทางด้านผู้ผลิตเตรียมพร้อมยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ชนิดเดิมที่ปล่อย CO2 สูง ในต้นปี 2024
สำหรับภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างภาคการบิน แม้ว่าจะต้องการคาร์บอนเครดิตชดเชยจำนวนมาก แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับ สายการบินบางรายจึงนำเสนอการซื้อคาร์บอนเครดิตให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการจะลดผลกระทบจากการเดินทางของตนเองเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าความต้องการใช้คาร์บอนเครดิต จะต้องมีมากน้อยเพียงใด
ในด้านการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ มาตรการทางภาษี CBAM ของสหภาพยุโรปเป็นมาตรการที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจากมาตรการดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจไม่สามารถใช้ทดแทน CBAM Certificate ที่ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปต้องซื้อได้ เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกันและสามารถเทียบเคียงกันได้
ความเสี่ยงด้าน Supply : ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเหมาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย และยังมีปัญหาด้านความไม่แน่นอน ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณการซื้อขาย
การขายคาร์บอนในตลาดจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจมาตรฐาน จึงจะเป็นคาร์บอนที่เป็นที่ยอมรับและขายได้ในตลาด ทำให้ภาค Supply เหมาะกับผู้ลงทุนขนาดใหญ่มากกว่า
ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมสำหรับการลงทุนปลูกป่า ศักยภาพในการดูดคาร์บอนอยู่ที่ราว 1.2-1.4 ตันต่อไร่เพื่อขายคาร์บอนเครดิตตามโครงการ ค่าดำเนินการในการเริ่มการขายคาร์บอนตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) โดยจะต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไปตามสเกลขั้นต่ำที่ T-Ver จะรับตรวจ ต้องมีค่าใช้จ่ายดังนี้
การขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER 3,000 บาทต่อโครงการต่อครั้ง
ค่าปลูกป่าและค่าบำรุงรักษา จะมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของป่า เช่น ป่าบกจะอยู่ที่ราว 4,300 บาทต่อไร่ (ข้อมูลจาก T-ver ต่อไร่ต่อปี ป่าชายเลน จะอยู่ที่ราว 6,390 บาทต่อไร่ต่อปี (ข้อมูลจากกองมาตรฐานงบประมาณ สำนักงบประมาณ เดือนมกราคม 2018) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 43,000 บาท ต่อ 10 ไร่
ค่าใช้จ่ายในการประเมินคาร์บอน อยู่ที่ราว 1,200 บาทต่อไร่ หรือ 1.2 ล้านบาทต่อเนื้อที่ 1,000 ไร่ ตลอดโครงการระยะเวลา 10 ปี (ตามระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิตของ T-ver และขอต่ออายุโครงการได้ครั้งละ 10 ปี) โดยจะไม่รวมค่าปลูกและค่าบำรุงรักษา ดังนั้น ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 12,000 บาท ต่อ 10 ไร่ ค่าประเมินคาร์บอนเครดิตมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การวัดก็ต้องมีเทคโนโลยีอย่าง GPS ภาพถ่ายดาวเทียมและโดรน เป็นต้น
การขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) 3,000 บาท ต่อโครงการต่อครั้ง ดังนั้น สเกลเล็กที่สุดสำหรับการขายคาร์บอนเครดิตจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 43,000+12,000 +3,000 +3,000 = 61,000 บาท เป็นอย่างน้อย โดยศักยภาพในการดูดคาร์บอนได้ที่ 14 ตันคาร์บอน ตัวอย่างการปลูกป่า 10 ไร่ข้างต้น เป็นสเกลที่เล็กมากเมื่อเทียบกับการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมอย่าง
การวัดค่าคาร์บอนเครดิตมีทั้งมาตรฐานไทยและมาตรฐานสากล ที่มีความเข้มข้นไม่เท่ากันระหว่างมาตรฐาน และยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับนานาชาติ
สำหรับมาตรฐานไทยที่เป็นมาตรฐานปกติคือ T-ver และเพิ่งปรับปรุงมาตรฐานใหม่ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากขึ้นในชื่อ Premium T-Ver เพื่ออ้างอิงให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากลโลกอย่าง Verra, Gold Standard อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้ามมาตรฐานกันได้
ต้องใช้ระยะเวลาระหว่างการลงทุนนานจึงจะนับและเก็บคาร์บอนขึ้นทะเบียนได้ ความหมายคือ มีช่วงระยะห่างระหว่างการลงทุนสำหรับการลงทุนในโครงการปลูกป่า โดยต้องใช้เวลา 3-5 ปี ที่เป็นระยะเวลาให้ป่าโต ซึ่งผู้ลงทุนต้องมีการพิจารณาให้รอบด้าน เนื่องจาก 3-5 ปี เป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรที่จะทำให้เทคโนโลยีทางเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีต้นทุนที่ลดลงจนทำให้มีความดึงดูดกว่าการซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นครั้ง ๆ ไป
นอกจากนี้ โครงการในการลดคาร์บอนอื่นนอกจากการปลูกป่าใช้ระยะเวลาสั้นกว่าและลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า แต่ได้ Co-benefit น้อยกว่าการปลูกป่า อาจเข้ามาแข่งขันในตลาดคาร์บอนได้เร็วกว่า จึงเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการขายคาร์บอนต้องพิจารณาเลือกระหว่างโครงการคาร์บอนเครดิตที่ใช้ระยะเวลานานกว่าจะเก็บเกี่ยวคาร์บอนเครดิตได้อย่างการปลูกป่า แต่ต้องรับกับความเสี่ยงของเทคโนโลยีลดคาร์บอนอื่น ๆ ที่อาจก้าวเข้ามาในระยะ 3-5 ปีนี้ หรือจะเลือกลงทุนในโครงการที่สามารถคิดคาร์บอนเครดิตได้ไว แต่ให้ประโยชน์ร่วมอย่างอื่นน้อยกว่าการปลูกป่า
ความเสี่ยงด้านราคา : ราคาคาร์บอนเครดิตที่สูงเกินไป จะทำให้เทคโนโลยีลดคาร์บอนที่เคยมีต้นทุนสูง เริ่มมีความน่าสนใจและน่าลงทุนมากกว่า
ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ผ่านมามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเทคโนโลยีอื่น
ที่เคยมีอุปสรรคทางด้านต้นทุนที่สูงสามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันกับการซื้อคาร์บอนเครดิตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดของสหภาพยุโรป ราคาคาร์บอนของสหภาพยุโรปในปัจจุบันอยู่ที่ระดับจุดคุ้มทุนสำหรับเทคโนโลยี Green hydrogen ที่ 2 USD/kg
ในขณะเดียวกัน การลงทุนเพื่อการจัดเก็บคาร์บอน CCS/CCUS ของสหรัฐฯ ที่ราคา California carbon price ณ เดือนกันยายน 2022 ขณะนี้มีความสามารถในการแข่งขันกับการซื้อคาร์บอนเครดิตได้แล้ว จึงทำให้ภาคธุรกิจเริ่มมีการเปรียบเทียบการลงทุนในระยะยาว อย่าง CCS หรือ Green hydrogen ที่มีความคุ้มทุนและยั่งยืนกว่าการซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งคราวไป
สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน ฝั่งเอเชียอย่างเกาหลี ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตไทยเฉลี่ยล่าสุดปี 2022 อยู่ที่ 107 บาท หรือประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน ซึ่งยังเป็นราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตไทย ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาคาร์บอนเครดิต มีโอกาสผันผวนได้สูง เนื่องจากมาตรฐานต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง ตลาดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Demand หรือ Supply เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดกฎระเบียบ มาตรฐานใหม่ ๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่ใช้ในองค์การการบินระหว่างประเทศ และคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในหมวดเกษตรกรรม จะเห็นว่าราคาตลาดมีความผันผวนเป็นอย่างมากและมีโอกาสปรับตัวลงมาเหลือเพียงราว 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ราคาได้ปรับตัวลงมาเนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎระบียบ และการกำหนดคุณภาพของคาร์บอนเครดิต ผู้เล่นต่างหวังว่าจะเห็นผู้แทนของ COP27 จะตัดสินใจว่าโครงการประเภทใดจะได้รับอนุญาต และคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ถือเป็นคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง แต่เนื่องจากผู้แทนของ COP27 เห็นว่าจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นในการตัดสินใจและพิจารณา
ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบนี้ การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับความชัดเจนว่าอะไรทำให้คาร์บอนเครดิตเป็นเครดิตที่มีคุณภาพดี รวมถึงเมื่อบริษัทต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจโดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่า Greenwashing
ดังนั้น ประเด็นทางด้านราคาคาร์บอนที่ผู้ลงทุนขายคาร์บอนเครดิตต้องตระหนัก คือ ความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ กับภาคสมัครใจ มีความเข้มข้นแตกต่างกัน เสถียรภาพของราคาแตกต่างกัน และสำหรับในไทยยังไม่มีเครื่องมือในการช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาได้เหมือนบางตลาด
นอกจากนี้ ราคาคาร์บอนถูกกำหนดเพดานราคาด้วยเทคโนโลยีทางเลือกในการลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มราคาลดลงจาก Scale ที่ใหญ่ขึ้น
ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม : การสร้างความยั่งยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง ยังเป็นสิ่งที่ควรมุ่งเน้นมากกว่าการซื้อคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญคือ ตลาดการซื้อขายคาร์บอนในปัจจุบันของไทย ยังเป็นตลาด (OTC) Over The Counter เป็นการซื้อขายกันโดยตรง ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แสดงว่าผู้ซื้อผู้ขายจะทราบแหล่งที่มาของการปล่อยคาร์บอนและการลดคาร์บอนที่แท้จริงเมื่อใดก็ตามที่ตลาดถูกพัฒนาไปเป็นตลาดรอง คือมีตลาดกลาง ย่อมทำให้เกิดความยากในการติดตามการปล่อยคาร์บอน คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นตรงส่วนใด กระทบกับชุมชนในพื้นที่ใด ควรทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบริเวณรอบ ๆ นั้น หากซื้อขายในตลาดรองก็จะไม่ทราบแหล่งที่มาของคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความใส่ใจมากขึ้น และเริ่มต่อต้านมากขึ้น นั่นคือประเด็นของ Greenwashing ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ผลิตไม่ได้มีความพยายามในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่อ้างว่ามีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะในด้านกิจกรรมการดำเนินงาน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือใช้แก้ปัญหาแบบฉาบฉวย เช่นการที่องค์กรและบุคคลต่าง ๆ ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วพยายามชดเชยมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น โดยการจ่ายเงินให้กับบริษัทอื่น ๆ เพื่อนำมาทดแทนในส่วนที่ตัวเองผลิตคาร์บอนมากเกินไป
การลงทุนสำหรับคาร์บอนเครดิต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?
ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดจากความตั้งใจที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นธุรกิจใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ เนื่องจากยังมีผู้เล่นในตลาดน้อย อย่างไรก็ตาม จากมุมมองในแง่ความเสี่ยงของภาคตลาดคาร์บอนเครดิต จะเห็นได้ว่ายังมีความเสี่ยงอีกหลายประการ เนื่องจากเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ ความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงทั้งทางด้าน Demand และ Supply รวมถึงความผันผวนของราคา และประเด็นทางสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าว ดังนั้น การลงทุนในตลาดคาร์บอนเครดิตจึงอาจเป็นเพียงทางเลือก ไม่ใช่กลไกหลักสำหรับการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมาย Carbon neutral/Net zero ผู้ประกอบการจะต้องมีการติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนที่สุด
คำถามที่ว่า มีโอกาสที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะพัฒนาต่อไปได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการวัดคาร์บอนเครดิต และการมุ่งมั่นสู่เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญ การยกระดับมาตรฐานคาร์บอนของไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล จนเกิดการยอมรับอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสำเร็จในตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยในอนาคต