ส.อ.ท. จับมือ 30 หน่วยงานพันธมิตร
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคการเงินกว่า 30 องค์กร นำบริการด้านต่างๆ ไปให้กับ SMEs ถึงพื้นที่ในกรุงเทพฯ และ 20 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SMEs ปี 2566”
โดยมุ่งนำบริการ 3 ด้านที่สำคัญสำหรับธุรกิจไปให้บริการ ได้แก่ กล่องความรู้เพื่อ SMEs อาทิ บัญชีและภาษี ตลาดต่างประเทศ, คลินิกให้คำปรึกษา SMEs ด้านการเงิน, มาตรฐาน และกล่องเงินสนับสนุน SMEs ด้านการพัฒนาธุรกิจ การตลาด และนวัตกรรม โดยมุ่งหวังที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและให้ SMEs สามารถเข้าถึงบริการที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจได้มากขึ้น
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) รวมถึงประธานสายงานสมาชิกสัมพันธ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ของโลกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากทั้งเทคโนโลยี, การแข่งขัน, สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ต้นทุนการผลิตที่กำลังจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากพลังงานและค่าแรง จนสร้างผลกระทบต่อองค์กรทุกขนาดทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs (ส.อ.ท.) ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาเครื่องมือและบริการต่างๆ ที่จะช่วยให้ SMEs สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนภูมิภาคที่ขาดโอกาสหรือไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งปัจจุบันกลุ่ม micro sme ที่เป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ไม่มีความรู้ อาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวง โดยเฉพาะการนำเรื่องบัญชีหรือภาษี มาเป็นข้อหลอกลวง ทำให้ SMEs ถูกหลอก เกิดความเสียหาย จึงได้มีแนวคิดในการรวบรวมบริการต่างๆ จากทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs รวมถึงหลักสูตรความรู้ด้านบัญชีและภาษี ลงไปให้บริการในพื้นที่ โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SMEs ปี 2566” โดยกำหนดจัดครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 31 มกราคม 2566 นี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 และหลังจากนั้นจะสัญจรไปอีก 20 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเจ้าภาพ ซึ่งคาดว่าจะมี SMEs ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 2,000 ราย
ส.อ.ท. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคาร SME D Bank, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคาร Exim Bank รวมถึงอีกกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งส.อ.ท. มุ่งหวังว่าหากทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือ ก็จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
บสย.พร้อมเดินหน้าต่อลมหายใจ SMEs
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบมาก ธุรกิจล้ม และมีปัญหาเรื่องหนี้จำนวนมาก บสย. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ภายใต้กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน จึงได้ขยายขอบเขตและบทบาทการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น ภายใต้แนวคิด TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs เคียงข้าง SMEs ก้าวเดินอย่างมั่นใจ เพื่อช่วยลูกค้าและลูกหนี้ บสย.ก้าวข้ามวิกฤต เยียวยาและฟื้นฟู พลิกฟื้นธุรกิจก้าวเดินใหม่อย่างมั่นใจสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการ บสย.พร้อมช่วย ตลอดปี 2566 ใน 3 มิติ คือ
มิติที่ 1 บสย.พร้อมช่วย “ค้ำประกันสินเชื่อ” พร้อมเป็นหลักประกัน เติมทุน เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พรก. สินเชื่อฟื้นฟู ที่เป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และโครงการบีไอ 7 ที่มีโครงการค้ำประกันหลากหลายคู่กับโครงการสินเชื่อของธนาคารต่างๆ ที่ออกมาช่วย SMEs ให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้
1. มิติที่ 2 บสย.พร้อมช่วยเติมความรู้ทางการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย.F.A. Center ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยจำนวนผู้ขอใช้บริการมากกว่า 11,000ราย จากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ปรับโครงสร้างหนี้ และหลักสูตรการอบรมที่ครอบคลุมด้านบัญชี การเงิน ธุรกิจ และเตรียมตัวในช่วงวิกฤตเพื่อการขอสินเชื่อ
2. มิติที่ 3 บสย.พร้อมช่วยแก้หนี้ SMEs ลูกค้า บสย. ตามนโยบายรัฐบาลปีแห่งการแก้หนี้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ผ่านมาตรการ 3 สี เพื่อช่วยลูกค้าแก้หนี้อย่างยั่งยืน 3 ระดับตามความสามารถในการผ่อนชำระ โดยปีที่ผ่านมาโครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถช่วยลูกหนี้กว่า 6,800 ราย บรรเทาหนี้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท
โครงการ“เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2566” จะช่วยเติมเต็ม เติมทุน เติมความรู้ และช่วยแก้หนี้ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 2,000 ราย ช่วยต่อลมหายใจและร่วมพลิกฟื้นกิจการเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ครบทุกมิติ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อเป็นเพื่อนกับ บสย.ได้ที่ไลน์ Line @TCGFrist
SME D Bank จัดเตรียมบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สำหรับสมาชิก ส.อ.ท.
นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า “SME D Bank จัดเตรียมบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สำหรับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยด้านเงินทุน ได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ
วงเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ กู้ได้สูงสุดถึง 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนสบายสูงสุดถึง 15 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดถึง 24 เดือน ที่สำคัญ มีโปรโมชั่นพิเศษ เมื่อยื่นกู้สินเชื่อที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินตั้งแต่ 5-50 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติและทำสัญญาภายใน
วันที่ 28 ก.พ. 2566 จะรับฟรี “บัตรเติมน้ำมัน” มูลค่าสูงสุดถึง 5,000 บาท นอกจากนั้น SME D Bank ได้จัดเตรียมบริการ “ด้านพัฒนา” ผ่านโครงการ “SME D Coach” ให้คำปรึกษาธุรกิจครบวงจรจากโค้ชมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสามารถแจ้งความประสงค์รับบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ธนาคาร (www.smebank.co.th), LINE Official Account : SME Development Bank และสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
กสิกรไทย มุ่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีต่อเนื่องครบทุกมิติ
นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ธนาคารฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเปิดกล่องของขวัญเพื่อ SMEs ปี 2566 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและพันธมิตร โดยในปีนี้น่าจะเป็นปีที่เอสเอ็มอีต้องปรับตัวพอสมควร หลังจากผ่านวิกฤตโควิดมาแล้ว โลกธุรกิจมีการแข่งขันที่ดุเดือดกว่าเดิม และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมาธนาคารฯ ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการให้การสนับสนุนในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้เงินทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงองค์ความรู้ และเครือข่ายธุรกิจ เพื่อให้เสริมศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารฯ แบ่งการสนับสนุนออกเป็น 3 เรื่อง คือ
1. การเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ด้วยวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าธุรกิจที่ยังต้องการความช่วยเหลือ หรือยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตที่ผ่านมา
2. สนับสนุนการลงทุน ปรับปรุง หรือพัฒนาให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ซึ่งลูกค้าสามารถนำเงินทุนไปปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับ New Normal ทั้งจากกระแสดิจิทัลเทคโนโลยี การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต
3. ให้เงินทุนทำธุรกิจสำหรับธุรกิจรายย่อย ด้วยสินเชื่อเอสเอ็มอีเอนกประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจรายย่อยสามารถสร้างความมั่งคั่งและเติบโตต่อไปในอนาคต สำหรับลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าของท่าน หรือ K-BIZ Contact Center 02-888 8822
ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบัน SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย Call Center 1453