ดีพร้อม ลุยโครงการ DIPROM Fruit Creation หนุนเกษตรกร-วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ
DIPROM Fruit Creation สร้างมูลค่าเพิ่ม มะม่วง ฝรั่ง อะโวคาโด ยกระดับสู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน
ดีพร้อม (DIPROM) โดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งปูพรมถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะการแปรรูปผลไม้ไทย 3 ชนิด มะม่วง ฝรั่ง และอะโวคาโดให้แก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ราว 700 คน ในพื้นที่ปลูก14 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 หรือ DIPROM Fruit Creation หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตที่ตกเกรดและลดความสูญเสียในช่วงล้นตลาด ทั้งยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมอย่างมีมาตรฐานสากล ควบคุมวัตถุดิบให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ รสชาติคงที่ ตั้งเป้าเกิดผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้นอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ และเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพไม่น้อยกว่า 6 เมนู มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วรวม 8 จังหวัด คาดว่าจะครบ 14 จังหวัดภายในเดือนพ.ย.นี้ เตรียมคัดเลือก 15 กิจการ จับคู่ธุรกิจนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปของไทยที่มีอัตราเติบโตสูง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565(ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าส่งออกราว 18,697 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.24 ขณะที่ในปี 2564 มีมูลค่าราว 22,305 ล้านบาท
นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) กล่าวว่า โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน OTOP ที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความสูญเสียอาหาร (Food loss & Food waste) โดยในปีนี้ได้ดำเนินการพัฒนาผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ฝรั่ง และอะโวคาโด ทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ผลไม้แปรรูปมีมูลค่าการส่งออก 22,305.39 ล้านบาท เฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565(ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าส่งออกราว 18,697.06 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับ กลุ่มผลไม้แช่แข็ง (มูลค่า 13,973.71 ล้านบาท) ผลไม้แห้ง (มูลค่า 8,934.96 ล้านบาท) ผลไม้กระป๋อง (มูลค่า 14,190.27 ล้านบาท) และน้ำผลไม้ (มูลค่า 19,784,74 ล้านบาท) โดยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 72.39% 29.42% 24.02% และ 34.82% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 126,467.81 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 9.27%
“เนื่องจากมะม่วงเป็นพืชที่มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุด ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง 200,830 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกราว 913,788 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตัน ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกมะม่วงสด 2,936 ล้านบาท และมะม่วงกระป๋องราว 1,505 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค. – ก.ย.) การส่งออกมะม่วงสดมีมูลค่า 2,500 ล้านบาท มีอัตราลดลงเล็กน้อย 0.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกมะม่วงกระป๋องมีอัตราเพิ่มขึ้น 17.03% ที่มูลค่า 1,311 ล้านบาท ส่วนฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี พื้นที่ผลิตกระจายอยู่ในหลายจังหวัดภาคกลางเป็นหลัก แหล่งผลิตที่สำคัญ คือ นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร สำหรับอะโวคาโดนั้นกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เกษตรกรมีการขยายการเพาะปลูกต่อเนื่อง เป็นผลไม้ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึงตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันพบการปลูกอะโวคาโดมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คิดเป็น 97% ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่บนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และตาก ซึ่งปัจจุบันยังมีการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มค่อนข้างน้อย การยกระดับการเกษตรให้มีมิติการจัดการในแบบอุตสาหกรรม หรือเกษตรอุตสาหกรรมจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ เพิ่มทางเลือกด้านอาหารสุขภาพ และจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ”
นางสาวอริยาพร กล่าวต่อว่า โครงการฯ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค .2565 โดยจัดให้มีกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปผลไม้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่รวม 14 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้มีผู้เข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่า 705 คน แบ่งเป็นกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรูปผลไม้ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร เพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการเป้าหมายด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) ให้มีอายุเก็บรักษานานขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ เช่น การทำเป็นผง (fruit powder) การทำเป็นเนื้อผลไม้เข้มข้น (puree) และการแช่แข็ง (frozen) อาทิ มะม่วงพิวเร อะโวคาโดแช่แข็ง และฝรั่งผงอบแห้ง เป็นต้น จัดอบรมทั้งหมด 9 รุ่น มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 405 คน ซึ่งได้จัดอบรมไปแล้วที่ จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบุรี ขอนแก่น และราชบุรี โดยจะจัดที่นครปฐมเป็นลำดับต่อไป
สำหรับหลักสูตรที่ 2 กิจกรรมเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ด้วยเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพ เน้นการนำวัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) จากหลักสูตรที่ 1 มาประยุกต์เป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการต่อยอดจากสินค้าที่โรงงานแปรรูปผลิตเข้าสู่ธุรกิจบริการอาหาร ซึ่งจะช่วยให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติของเมนูที่ให้บริการได้คงที่ อาทิ เมนู สเปรดอะโวคาโดไขมันต่ำ น้ำสลัดอะโวคาโดสูตรคีโต แยมมะม่วงสูตรหวานน้อย โยเกิร์ตมะม่วงสูตรคีโต แยมฝรั่งอเนกประสงค์ และน้ำสลัดฝรั่งสูตรคีโต เป็นต้น จัดอบรม 6 รุ่น มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 คน มีแผนการจัดอบรมที่ จ.กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรสงคราม เพชรบูรณ์ และภูเก็ต ระหว่างวันที่ 9 – 23 พ.ย. 2565
“หลังจากนี้จะได้มีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมจำนวน 15 กิจการ เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเข้าให้คำแนะนำกระบวนการแปรรูป การควบคุมคุณภาพสินค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบหรือจัดทำฉลากพร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ นำสินค้าส่งตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขออนุญาตเลข อย. ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจรองรับการผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปต่อไป คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10” นางสาวอริยาพร กล่าว