กบข. จับมือ สตช. เชื่อมต่อแอปพลิเคชั่นระหว่างหน่วยงาน เพิ่มความสะดวกให้แก่ตำรวจ
กบข. จับมือ สตช. ลงนาม MOU เชื่อมต่อแอปพลิเคชั่นระหว่างหน่วยงาน เพื่อขยายการเข้าถึงข้าราชการตำรวจ ที่เป็นสมาชิก กบข. เพิ่มมากขึ้น หวังยกระดับความมั่นคงทางการเงิน
นางศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการเชื่อมต่อ “Tanjai Application” กับ “My GPF Application” โดยมีพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้เข้าถึงบริการของ กบข. ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และ กบข. ได้พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล เมื่อข้าราชการตำรวจที่เป็นสมาชิก กบข. เข้าใช้งานแอปพลิเคชันสวัสดิการตำรวจ “Tanjai Application” สามารถคลิกเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน กบข. “My GPF Application” ได้อัตโนมัติ
ทั้งนี้ กบข. หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ข้าราชการตำรวจเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ของ กบข. เพิ่มมากขึ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับข้าราชการตำรวจ ซึ่งปัจจุบันข้าราชการตำรวจที่เป็นสมาชิก กบข. มีจำนวน 1.6 แสนราย แต่มีการเข้าถึงบริการของ กบข. อยู่ที่ 58% ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นการเพิ่มช่องทางในการดูยอดเงินในบัญชีสมาชิก ซึ่งระบบจะเชื่อมต่อตรงมายัง My GPF Application การรับสิทธิพิเศษส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ มากมาย พิเศษเฉพาะสมาชิก กบข. ที่สามารถกดรับสิทธิพิเศษได้ทันทีบน Tanjai Application และยังสามารถเข้าเรียนในหลักสูตร GPF e-Learning เพื่อเสริมทักษะและเพิ่มความรู้ด้านการเงินการลงทุน นอกจากนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของ กบข. ให้ข้าราชการตำรวจได้รับทราบผ่านช่องทาง Tanjai Application ด้วย
พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในยุคที่ข่าวสารเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดจากการส่งต่อข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ข้าราชการตำรวจหลายนายเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการของตนเอง เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลภายในองค์กรมีความรวดเร็วและความถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชันแทนใจ และปัจจุบันกำลังเข้าสู่การพัฒนาในเวอร์ชัน 2.0 ที่มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ หลายด้าน โดยสิ่งที่สำนักงานตำรจแห่งชาติ พยายามแก้ไขปัญหาให้กับข้าราชการตำรวจ คือ เรื่องหนี้สิน ซึ่ง กบข. เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน มีการทำสื่อการเรียนรู้เผยแพร่เรื่องการวางแผนการเงิน การออม รวมถึงการลงทุน และ กบข. ได้ให้ความสำคัญกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการนำสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ ความรู้การวางแผนด้านการเงินผ่าน GPF e-learning มอบให้แก่ข้าราชการตำรวจผ่านช่องทาง Tanjai Application เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา
นอกจากนี้ กบข. และ สตช. ยังได้ร่วมกันจัดโครงการนำร่องส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของสมาชิก กบข. ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของสมาชิก กบข. โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ เพื่อให้สมาชิกเข้าใจถึงหลักการออมเงินและการบริหารจัดการการเงินของตนเอง ให้มีความมั่นคง ทั้งในช่วงอายุที่ยังมีรายได้ และเมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยเกษียณในอนาคต
เกี่ยวกับ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1.20 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2565)